ในโอกาสสิ้นปี 31 ธ.ค. เอกอัครราชทูตและตัวแทนประจำประเทศไทย ให้เกียรติตอบ คำถามทีมข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถึงสิ่งที่ชื่นชอบในปีนี้ และมุ่งหวังที่จะได้เห็นอะไรในประเทศไทยปีหน้า
แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย
ดิฉันประทับใจที่สุดคือการเฉลิมฉลองสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เมื่อ พล.อ.เดวิด เฮอร์ลีย์ อดีตผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียเดินทางเยือนไทยครั้งประวัติศาสตร์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ พล.อ.เฮอร์ลีย์เคยเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน นอกจากนี้ดิฉันยังเพลิดเพลินกับการเดินทางไปพบปะกับคนไทยที่เคยศึกษาที่ออสเตรเลียในภูมิภาคต่างๆของประเทศ และตั้งตารอปีใหม่ที่น่าตื่นเต้นกับมิตรสหายชาวไทย ส่วนในปี 2568 ออสเตรเลียจะสนับสนุนการเป็นสมาชิก OECD และความยั่งยืนทางการเกษตรของไทย พร้อมต่อยอดกิจกรรมสำคัญในด้านต่างๆ เช่นการจัดอบรมสนับสนุนการสืบสวนอาชญากรรมไซเบอร์ จัดการประชุมด้านความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงมอบทุนการศึกษาให้คนไทยผ่านโครงการความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ออสเตรเลีย และเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ที่สำคัญรัฐบาลออสเตรเลียจะเดินหน้าสนับสนุนการผลิตยารักษาโรคในประเทศไทยต่อไป.
...
หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีน
ในช่วงเวลาแห่งการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ในนามของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ข้าพเจ้าขอส่งคำอวยพรปีใหม่ไปยังชาวไทยและเพื่อนมิตรทุกแวดวง ปี 2567 ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์จีน-ไทย ภายใต้การชี้นำเชิงยุทธศาสตร์ของผู้นำของทั้ง 2 ประเทศและความพยายามร่วมกันของทุกแวดวงในทั้งสองประเทศ การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยในด้านต่างๆได้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนของทั้งสองประเทศและเป็นพลังบวกอันแข็งแกร่งสู่การพัฒนาที่มั่นคงของภูมิภาค ในปีหน้าเราจะร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย ปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูต จีนจะสานต่อมิตรภาพ และเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือไว้วางใจของไทยเช่นเคย พร้อมยินดีที่จะทำงานร่วมกับมิตรจากทุกสาขาอาชีพในไทย มุ่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-ไทยตามแนวทางของผู้นำของทั้ง 2 ชาติ เพื่อเขียนบทใหม่ของ “จีน–ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”.
ฌ็อง–โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส
ปี 2567 เป็นปีที่ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและไทยดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีพลัง โดยสืบเนื่องจากการเยือนกรุงเทพฯของประธานาธิบดีเอมานูว์แอล มาครง ในเดือน พ.ย.2565 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปฝรั่งเศสสองครั้งในเดือน มี.ค. และ พ.ค. และได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีฝรั่งเศสในทุกครั้ง ผู้นำทั้งสองได้ประกาศเจตจำนงร่วมกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เป้าหมายสำคัญในปี 2568 คือการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเงื่อนไขสำหรับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ โดยงานนี้จะเกิดขึ้นในบริบทของการเฉลิมฉลองครั้งสำคัญ เนื่องจากปี 2568 จะเป็นวาระครบรอบ 340 ปีของคณะทูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมายังสยาม ปี 2568 จะเป็นปีแรกในวัฏจักรการเฉลิมฉลองสองปี เนื่องจากปี 2569 จะเป็นวาระครบรอบ 170 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของเรา เป็นโอกาสที่จะย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของความร่วมมือ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของความสัมพันธ์ในปัจจุบัน และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับหุ้นส่วนในอนาคต ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับทีมงานสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย.
...
แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตเยอรมนี
ในปี 2567 เยอรมนีได้เฉลิมฉลอง 75 ปี การสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ 75 ปี ของกฎหมายพื้นฐานเยอรมนี ซึ่งในมาตรา 1 ได้เน้นย้ำถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะละเมิดมิได้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ขณะที่ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี เดินทางเยือนประเทศไทย และการเยือนกรุงเบอร์ลิน 2 ครั้ง ของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการร่วมรับมือความท้าทายระดับโลก เช่นภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน ในปีนี้เยอรมนีได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมดำเนินการด้านพลังงาน คมนาคม และสภาพภูมิอากาศ ช่วยไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 การออกกฎหมายฉบับประวัติศาสตร์รับรองการแต่งงานเพศเดียวกันของไทยยังเป็นสิ่งที่น่ายินดี ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือและความสัมพันธ์ของเราทั้งสองประเทศจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในปี 2568.
...
ระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย
ความร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ กลุ่มธุรกิจ ศิลปิน และประชาชนทั่วไปในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยผ่าน “ซอฟต์พาวเวอร์” ไปสู่ประชาคมโลกเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “หลานม่า” เป็นตัวอย่างเด่นชัด ขณะที่การมองโลกในแง่ดี ความเป็นมิตร และความมุ่งมั่นอนุรักษ์วัฒนธรรมยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดชาวต่างชาติให้มาเยือนเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการรับรอง “เคบายา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกยังเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมยาวนานของไทย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในปี 2568 จะเป็นเวลาสำคัญสำหรับอินโดนีเซียและไทย ใน “โอกาสครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต” ของทั้งสองประเทศ นับแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2493 ตลอดเวลาที่ผ่านมาอินโดนีเซียและไทยมีความร่วมมือใกล้ชิด และความก้าวหน้าทั้งด้านการค้าการลงทุน ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ การศึกษา ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรม ขอให้ปีนี้เป็นปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ดีขึ้นสู่การเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน.
...
ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอล
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาอิสราเอลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อมิตรภาพและความร่วมมือกับประเทศไทยในปี 2567 ที่ผ่านมาความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และเทคโนโลยีอาหาร ไฮไลต์สำคัญ ได้แก่งานฟู้ดเทค โรดโชว์ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พ.ย. นำกลุ่มธุรกิจอาหารของไทยและสตาร์ตอัพ ด้านฟู้ดเทคของอิสราเอลมาพบกันเพื่อร่วมกำหนดอนาคตอุตสาหกรรมอาหารโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวอิสราเอล ด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทัศนียภาพอันสวยงาม และการต้อนรับที่อบอุ่น ขณะที่แรงงานไทยยังมีบทบาทสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลมานานกว่า 30 ปี แม้ว่ายังมีเรื่องสะเทือนใจจากการที่ชาวไทยอีก 8 คนยังถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม ในปีใหม่ที่ใกล้ถึงนี้ อิสราเอลมีแผนจะเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การศึกษา การค้า การวิจัย และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เชื่อมั่นว่าในปี 2568 นี้จะเป็นปีทองของความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ของไทยและอิสราเอล.
โอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น
เมื่อ มี.ค. ผมเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มาประจำการที่ไทย และสัมผัสได้ว่าความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นหลายด้าน เป็นหุ้นส่วนที่ขาดกันไม่ได้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน ญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทย มีบริษัทญี่ปุ่นราว 6,000 แห่งดำเนินธุรกิจในไทย ในปี 2567 เป็นโอกาสครบ 70 ปี หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และเจโทร กรุงเทพฯ อีกทั้งครบ 70 ปี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) จากญี่ปุ่นสู่ไทย ในด้านวัฒนธรรมยังครบ 50 ปี เจแปนฟาวน์เดชันกรุงเทพฯ ในปี 2568 หวังว่าความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองประเทศจะพัฒนายิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมหกรรมโอซากาคันไซเอ็กซ์โป 2025 ที่จัดขึ้นระหว่าง เม.ย.ถึง ต.ค. จะมีอาคารนิทรรศการไทยร่วมในงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสให้ประชาชนทั้งสองประเทศร่วมกันขบคิดในประเด็นต่างๆตามธีมงาน “ออกแบบสังคมในอนาคตที่ชีวิตส่องประกาย” เสน่ห์ของไทย ไม่ได้มีเพียงธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ยังอุดมไปด้วยซอฟต์พาวเวอร์ที่หลากหลายของชาวไทย จากนี้ไปหวังว่าญี่ปุ่นและไทยจะร่วมกันเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์และนำเสนอเสน่ห์ของทั้งสองประเทศให้กับทั่วโลก.
พัค ยงมิน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้
เมื่อ ต.ค. ประธานาธิบดีเกาหลีใต้และนายกรัฐมนตรีไทยพบกันที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน สปป.ลาว ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งพัฒนามาจากความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันและมิตรภาพยาวนาน รู้สึกขอบคุณชาวไทยอย่างสุดซึ้งที่แสดงความรักอย่างล้นหลามให้แก่อาหารเกาหลี ละคร ภาพยนตร์ เว็บตูน เพลง อุตสาหกรรมความงาม รวมถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆของเกาหลีใต้ เมื่อไรที่มีโอกาสได้เยี่ยมเยียนห้องเรียนในไทย ผมรับคำถามมากมายจากคนรุ่นใหม่อย่างการกระตือรือร้น เกี่ยวกับความสำเร็จของเกาหลีใต้ในด้านวัฒนธรรม ผมรู้สึกประทับใจกับคนรุ่นใหม่เสมอมาที่ทราบเป็นอย่างดีว่าโอกาสสำหรับอนาคตของความสัมพันธ์อยู่ที่ใด ความเข้าใจร่วมกันระหว่างเกาหลีกับไทยจะยังคงเฟื่องฟูต่อไป หวังว่าชาวไทยจะเดินทางไปเกาหลีใต้มากขึ้น ได้เห็นเศรษฐกิจเติบโตพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพลิดเพลินกับวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราดียิ่งขึ้น หวังว่าไทยเอาชนะทุกความท้าทาย และเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันในปี 2568 บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในอนาคต.
เยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซีย
ในปี 2567 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและไทยมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องทั้งด้านเศรษฐกิจการค้าและการทูต เห็นได้จากการนำพรรคเพื่อไทยร่วมวงประชุมภาคีบริกส์ ที่เมืองวลาดิวอสตอกในเดือน มิ.ย. ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ส่วนการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวยังประสบผลสำเร็จอย่างสูง ในปีนี้โนโวซีบีสค์ เธียเตอร์ เข้าร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับบอลชอยบัลเล่ต์ คณะบัลเล่ต์ชั้นนำของโลกจากกรุงมอสโก เปิดการแสดงให้ชาวไทยได้ชมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาชื่นชมความงามของประเทศไทยทะลุ 1.6 ล้านคน ส่วนในปี 2568 ทางสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยจะเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันต่อไป เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ ผมขอใช้โอกาสนี้อวยพรให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยมีสุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จ โชคดี และเจริญรุ่งเรืองในปี 2568 สวัสดีปีใหม่ครับ!
จาง จวิ้น ฝู ผอ.ใหญ่ สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป
มีความปลาบปลื้มที่ได้เห็นความก้าวหน้าทางความสัมพันธ์ไต้หวัน-ไทยตลอดปี 2567 ได้รับการสนับสนุนเรื่องการยกเว้นวีซ่า จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยทะลุ 1 ล้านคน มีการปรับปรุงข้อตกลงการลงทุนทวิภาคี (BIA) ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ 5 ในรอบ 8 ปีที่ต่ออายุข้อตกลงการลงทุนกับไต้หวัน ซึ่งในเดือน ก.ย.ไต้หวันถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยและเป็นอันดับ 4 ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทย ปีนี้เรามีความเสียใจจากผลกระทบของน้ำท่วมในภาคเหนือ ธุรกิจไต้หวันและรัฐบาลได้บริจาคเงินช่วยเหลือการฟื้นฟูกว่า 8.4 ล้านบาท เหมือนกับที่ไทยช่วยเหลือไต้หวันในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเดือน เม.ย. ถือเป็นวัฏจักรของความปรารถนาดีต่อกัน สำหรับปี 2568 เรามุ่งหวังที่จะขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในหลายด้าน บ่มเพาะความเป็นหุ้นส่วนอันใกล้ชิดและมิตรภาพ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านไทยรัฐมีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองในปีใหม่ ให้ปีมะเส็งนำมาซึ่งสุขภาพ ลาภยศ และความสุขแก่ครอบครัวของทุกท่านด้วยเทอญ.
มาร์ค กู้ดดิ้ง เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร
ปี 2567 ถือเป็นปีที่พิเศษสำหรับความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร-ไทย เราเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับไทย ในเดือน ก.ย. สหราชอาณาจักรและไทยยังร่วมลงนามขยายหุ้นส่วนทางการค้า ไทยถือเป็นเศรษฐกิจลำดับ 2 ในอาเซียน การค้าระหว่างเรามีมูลค่าถึง 5,900 ล้านปอนด์ การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนจะช่วยเราสองในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคที่สำคัญ เช่น ยานยนต์ ท่องเที่ยว การค้าดิจิทัล การศึกษาและอีกมากมาย ปีหน้าสหราชอาณาจักรและไทยมีกำหนดเฉลิมฉลอง “ความสัมพันธ์การทูตครบ 170 ปี” ตามสนธิสัญญาเบาว์ริง 18 เม.ย.2398 ที่เริ่มต้นจากการค้าขาย แลกเปลี่ยนไอเดีย ก่อนเติบโตกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ทันสมัยและเจิดจรัส เดือน ม.ค.2568 นี้ สถานทูตฯจะจัดงานเฉลิมฉลองและเปิดตัวโลโก้ 170 ปี ก่อนเดินสายโรดโชว์ในภูมิภาคต่างๆของไทย ผมตั้งตารอที่จะได้ฉลองปีพิเศษของความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร-ไทยในปี 2568.
วิกเตอร์ เซเมนอฟ อุปทูตยูเครน
แม้จะเผชิญความยากลำบากจากการคุกคามทางทหารของรัสเซีย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเรายังคงมุ่งไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ยูเครนขอขอบคุณอย่างลึกซึ้งต่อประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนอธิปไตยและความเป็นปึกแผ่นของดินแดนตามเส้นพรมแดนที่นานาชาติยอมรับ การที่ไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพที่สวิตเซอร์แลนด์และการประชุม ด้านความมั่นคงอาหารและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นส่วนช่วยอย่างยิ่งที่ผลักดันให้เกิดสันติภาพอย่างยุติธรรมและยั่งยืนสำหรับยูเครน ในปีหน้าเรามีความหวังที่จะได้กระชับความสัมพันธ์กับไทย เปิดการหารือทางการเมืองใหม่ๆความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เรามีความมั่นใจว่าปี 2568 จะเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับการเพิ่มพูนความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ยูเครน-ไทย พัฒนาวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันในเรื่องของอนาคตที่สงบสุขและเชื่อมโยงเข้าหากัน ซึ่งจากรากฐานความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งอยู่เป็นทุนเดิม ย่อมสามารถทำได้.
โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ
ในปีนี้ผมเดินทางไปทั่วไทยได้เห็นความอบอุ่น ความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้นและความเอื้อเฟื้อของคนไทย ผมประทับใจทุกๆช่วงเวลา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการ “Weaving Our Stories” ในโอกาสครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ผมลอยกระทงที่สุโขทัย ผมไปสวนทุเรียนในชุมพรและพบผู้ประกอบการชาวสวนไทย ได้ร่วมงานประเพณีไหลเรือไฟที่นครพนมและชมถ้ำนาคีที่งดงาม วิ่ง 10 กม. งาน “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน” ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แบ่งปันเสียงหัวเราะกับเด็กๆ ที่เรียนภาษาอังกฤษในโครงการโรงเรียนวันเสาร์ และตื่นตากับวัดไชยวัฒนารามที่ได้รับการบูรณะจากความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ 12 ปี ปีหน้าเป้าหมายของผมคือสร้างงาน ขยายการวิจัยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน เพิ่มความร่วมมือในอุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ ขยายความร่วมมือเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง และพัฒนาความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศ เมื่อไทย–สหรัฐฯร่วมมือกัน จะไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่