แม้ว่าปี 2567 จะถือเป็นปีที่โดดเด่นทางการเมือง เนื่องด้วยถึงเวลาครบกำหนด เปลี่ยนตัวรัฐบาลในกว่า 70 ประเทศทั่วโลกมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
แต่ก็ไม่มีใครแล้วที่จะสามารถดึงความสนใจจากนานาชาติ ได้มากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแดนพญาอินทรี “สหรัฐอเมริกา” ที่สร้างความคึกคักให้เรารับชมกันเป็นระยะๆตลอด 365 วัน
ปีนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับการ “ดีเบต” ประชันวิสัยทัศน์ระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องด้วยแคนดิเดตทั้ง 2 คน ไม่ว่าจะ “โจ ไบเดน” จากพรรครัฐบาลเดโมแครต หรือ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกัน ต่างก็สร้างความฉงนแก่ผู้รับฟัง
ไม่สามารถชูประเด็นให้เห็นได้เลยว่า รัฐบาลสหรัฐฯสมัยหน้าจะมีทิศทางเช่นไร มีนโยบายใดเป็นจุดเด่นจุดขาย หรือกล่าวถึงปัญหาที่ต้องแก้ไข กลับกลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างพยายามดิสเครดิตทำลายชื่อเสียงของกันและกัน ซึ่งกรณีนี้ได้นำไปสู่การ “เปลี่ยนตัว” พรรคเดโมแครตปลดไบเดนกลางอากาศ เปลี่ยนม้าศึกกลางคัน
...
ท่ามกลางกระแสข่าวมากมายว่า หลังบ้านของพรรคลาสีน้ำเงินเดินสายดีลลับกันอุตลุด เข้าออกเซฟเฮาส์กันเป็นว่าเล่น ซึ่งสิ่งที่ชัดที่สุดคือ คนเดินเกมในเรื่องนี้มีอยู่ 3 คน ได้แก่ ฮิลลารี คลินตัน อดีต รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทน ราษฎรสหรัฐฯ และ “บารัค โอบามา” อดีตประธานา ธิบดีสหรัฐฯ
จนเป็นที่มาของรายงานข่าว “จิล ไบเดน” สตรีหมายเลขหนึ่ง ถูกมอบภาระอันหนักอึ้ง ให้เป็นผู้เคาะตัดสินว่าสามีควรได้ไปต่อหรือพักผ่อน นำไปสู่เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีที่กำลังดำรงตำแหน่งและสมควรได้ลงแข่งขันเพื่อทำงานต่อในสมัยสอง ถูกขั้วอำนาจในพรรคขจัดทิ้ง ผลงานไม่เข้าตา วาจาไม่ฉะฉานเหมือนเคย เกรงว่าจะทำคะแนนหาเสียงสู้คู่แข่งไม่ได้
ใบสมัครตกไปอยู่ในมือของ “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯที่มีภาพลักษณ์เป็นผู้หญิงยุคใหม่ บุคลิกมาดมั่น เคารพความเป็นมนุษย์ ยอมรับความเห็นต่าง ชื่นชอบความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์ ทั้งยังพ่วงมาด้วยดีกรีนักกฎหมาย ดำรงตำแหน่งอัยการจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เหมาะสมที่จะมาปราบทรัมป์ ซึ่งมีคดีความติดตัวอยู่เต็มไปหมด
แน่นอนที่ทางพรรคเดโมแครตย่อมคำนวณมาแล้วว่า ฐานเสียงเดโมแครตไม่มีทางน้อยหน้ารีพับลิกัน บรรดา “สื่อมวลชน” กระแสหลัก ก็ไม่มีใครชอบ ทรัมป์ ช่วยกันกระหน่ำผ่านสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ และโทรทัศน์ ประโคมโหมข่าวกันอย่างสนุกมือ ขณะที่เหล่าดารานักแสดงออกมาช่วยใช้พลังเซเลบฯ ยกย่องแฮร์ริสกันอย่างอื้ออึง ประสานพลังประชาชน สื่อและดารากันระดับนี้ ชัยชนะจะไปไหนเสีย
อย่างไรก็ตาม การเลือกรองผู้นำลูกครึ่งผิวสี-อินเดีย ถือเป็นการเดินเกมที่พลาดมหันต์ เนื่องด้วยช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพสังคมชาวอเมริกันกำลังอยู่ในช่วงซึมซับคอนเซปต์เสรีนิยมเข้มข้น ที่เรียกกันว่าแนวคิด DEI-ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และความครอบคลุม ที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่ เรียกคำถามต่างๆเช่น การสนับสนุนเปลี่ยนเพศตั้งแต่เด็ก ให้ชายมาลงแข่งกีฬาหญิง การแบ่งสัดส่วนโควตาผิวสีในแวดวงการศึกษาหรือการทำงาน การหลีกเลี่ยงคำพูดเพื่อไม่สร้างบาดแผลแก่อารมณ์ความรู้สึก
แฮร์ริสที่ป่าวประกาศอย่างชัดเจนว่า เราต้องเบิกเนตรยิ่งกว่านี้ จะต้อง Woke ให้มากขึ้นอีก ได้แปรสภาพจากผู้พิทักษ์กฎหมาย กลายเป็นศัตรูของสถาบันครอบครัว และคุณค่าแบบอเมริกันในสายตาของ “ขั้วอนุรักษนิยม” แผ่นดินสหรัฐฯได้ถูกขีดเส้นเป็นที่เรียบร้อย คุณไม่อยู่ข้างเราคือต่อต้านเรา
ปัจจัยต่อมา ยังอยู่ที่ตัวของผู้สมัครแฮร์ริสเอง ที่มีความสามารถไม่เพียงพอที่จะแสดงความเป็นผู้นำผองชนชาวอเมริกัน ขาดทักษะการตอบคำถามเฉพาะหน้า ไล่เรียงลำดับความคิดถ่ายทอดแก่ผู้ฟัง และเลือกที่จะกล่าว “เอาใจ” ฐานเสียงกลุ่มต่างๆ จนกลายเป็นเหตุการณ์พูดรัฐนี้อย่างหนึ่งพูดรัฐนู้นอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็พูดย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่การแจกแจงนโยบายหาเสียงต่างๆก็แทบจะไร้ค่า ถูก ทรัมป์ขยี้แบบไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืดว่า ทำไมไม่ทำระหว่างที่เป็นรองประธานาธิบดีมาตลอด 3 ปีครึ่ง
ขณะที่การดึงบุคคลที่มีความโดดเด่นเข้ามาร่วมวง ทางฝ่ายทรัมป์ ยังทำได้ดีกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็น “โรเบิร์ต เคนเนดี จูเนียร์” ทายาทตระกูลการเมืองชื่อดัง ที่ประกาศตัวเป็นนักต่อสู้ทางด้านสาธารณสุข และแสดงท่าทีพร้อมเปิดศึกกับบริษัทเวชภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจอาหารที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก หรือเจ้าพ่อเทคโนโลยี “อีลอน มัสก์” ที่มีจุดยืนร่วมกับสายอนุรักษนิยม เข้ามาช่วยปั่นกระแส “โซเชียลมีเดีย” ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ โดยมุ่งเน้นเขย่าประเด็นที่เป็นจุดอ่อนของค่ายเสรีนิยมเดโมแครต ขยี้ความไร้สาระของแนวคิดเบิกเนตรอย่างต่อเนื่อง
...
แม้กระทั่งประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ก็ก่อให้เกิดคำถามจากผู้ชมทางบ้านว่าอยู่ข้างใครกันแน่ เพราะนับตั้งแต่โดนปลดออกจากตำแหน่งผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเป็นที่เรียบร้อย ไบเดนกลับมีความกระฉับกระเฉงเป็นพิเศษ ความกังขาว่าเป็นอัลไซเมอร์อ่อนๆมลายหายสิ้น เดินสายทักทายผู้สนับสนุนอย่างคึกคัก จนนำไปสู่เหตุการณ์หยอกล้อกับชาวบ้านในรัฐสวิงสเตทเพนซิลเวเนีย นำหมวก MAGA–Make America Great Again สีแดงของทรัมป์ สวมทับหมวกของตัวเองบนศีรษะและหัวเราะกันสนุกสนาน หรือกรณีความชื่นมื่นยิ้มแย้มแลกเปลี่ยนไมตรีในการสนทนา “สานต่อการทำงาน” อย่างเป็นกันเองกับทรัมป์ภายในทำเนียบขาว
และที่ขาดไม่ได้คือเหตุการณ์ลอบยิงทรัมป์บนเวทีหาเสียงเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ที่แสดงให้เห็นภาพผู้นำพรรครีพับลิกันเลือดอาบใบหน้า สั่งการหน่วยอารักขาอย่าเพิ่งพาลงจากเวที เพื่อที่จะได้ชูกำปั้นให้ผู้สนับสนุน และกล่าวคำว่าสู้ สู้ (Fight! Fight!) จนเรียกเสียงโห่ร้องอย่างกึกก้อง และสร้างความเชื่อแก่คนหลากหลายกลุ่มว่า นี่แหละคือความเป็นอเมริกันที่แท้จริง
...
ผลสุดท้ายชัยชนะจึงไปเป็นของทรัมป์และค่ายรีพับลิกัน กวาดทั้งคะแนนดิบทั้งประเทศ หรือป๊อปปูลาร์โหวต และคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ รวมถึงรัฐ “สวิงสเตท” 7 รัฐ ที่ปกติแล้วจะเอียงน้ำเงินบ้างแดงบ้างไปตามโอกาส กระบวนการนับผลสามารถจบได้ภายในวันเดียว ไม่จำเป็นต้องรอลุ้นเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผ่านมาและกำลังเป็นไปในวอชิงตัน ได้ก่อให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า สหรัฐฯในวันนี้ไม่ใช่สหรัฐฯในอดีตอีกต่อไปแล้วหรือไม่ และอเมริกาในภายภาคหน้าจะมีรูปโฉมที่เปลี่ยนไปมากน้อยเช่นไร? เพราะนอกจากแนวคิดของทรัมป์จะมีความคนละขั้วและสุดโต่งอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังพ่วงมาด้วยประเด็นที่ศาลฎีกาพิพากษาคดีทรัมป์พยายามแทรกแซงการเลือกตั้ง 2563 ที่นำไปสู่เหตุบุกรัฐสภาว่าการกระทำในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯภายใต้ขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีทางอาญา
...
กลายเป็นบรรทัดฐานหลังจากนี้หรือไม่ว่า ผู้นำสหรัฐฯไม่มีความผิดจากการใช้ อำนาจอย่างเป็นทางการ แม้ว่าการกระทำนั้นๆ จะมีความบ้าบอแค่ไหนก็ตาม!?
ทีมข่าวต่างประเทศ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่