วันเสาร์สบายๆส่งท้ายปีเก่าวันนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “ประเทศภูฏาน” กันนะครับ ประเทศเล็กๆที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยระหว่างจีนกับอินเดีย ต้นแบบการใช้ “ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH)” มาเป็นดัชนีวัดเศรษฐกิจ ปี 2566 ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) ของภูฏานอยู่อันดับ 1 ของโลกคู่กับฟินแลนด์ แต่ถ้า วัดด้วย GDP เศรษฐกิจภูฏานอยู่อันดับ 131 ของโลก สวนทางกับดัชนีความสุข ปลายปี 2566 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก จึงตัดสินพระทัยประกาศสร้างเมืองใหม่ที่เป็น “เมืองไฮเทค” ใน เขตเศรษฐกิจพิเศษทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลก เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน
จะมีใครรู้ไหม ภูฏาน ประเทศที่ มีประชากรเพียง 8 แสนคน มีดัชนีแห่งความสุขอันดับ 1 ของโลก แต่ มีปัญหาการว่างงานอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้คนหนุ่มสาวหลายพันคนต้องอพยพไปหางานทำในต่างประเทศ สวนทางกับดัชนีความสุขอันดับ 1 ของโลกที่ได้รับ
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม ได้รายงานถึงการสร้างเมืองใหม่ของภูฏานในเรื่อง “อะเมซิ่งภูฏาน ศูนย์กลาง AI และการเงินแห่งหิมาลัย” ไว้ค่อนข้างละเอียดว่า เมืองใหม่แห่งนี้ มีชื่อว่า Gelephu Mindfulness City (GMC) หรือ “เมืองแห่งสติเกเลพู” กินพื้นที่ประมาณ 1,000 ตร.กม. ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ “เมืองเกเลพู” อยู่ติดชายแดนอินเดีย มีประชากรไม่ถึงหมื่นคน แต่เป็นแหล่งผลิต “ไฟฟ้าพลังนํ้า” ซึ่งมีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงเมืองใหม่ได้อย่างสบาย รัฐบาลภูฏานหวังจูงใจให้มีคนเข้าไปอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น และทำงานอย่างมีความสุข เช่น พวกที่ทำงานอาชีพอิสระพึ่งพาระบบดิจิทัล บริษัทคริปโตเคอร์เรนซี พวกนักบวชแสวงบุญ รวมถึงเศรษฐีต่างชาติที่ต้องการความสงบสุขวิถีพุทธ
...
เดือนกันยายน 2567 ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกฯภูฏาน ได้มาเปิดตัวโครงการ “เมืองแห่งสติเกเลพู” ที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่าเป็นโครงการภายใต้แนวคิด ความมีสติ (Mindfulness) ความยั่งยืน (Sustainability) และ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข (Harmony) นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการสร้างเมืองที่มีความสมดุลระหว่าง การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเคารพในธรรมชาติ จิตวิญญาณ ประเพณีวัฒนธรรมในสมัยโบราณ และการดำรงชีวิตอย่างมีสติ ไปพร้อมกัน
วารสารการเงินธนาคาร รายงานว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เมืองใหม่ “เมืองแห่งสติเกเลพู” เกิดขึ้นมาได้ ต้องอาศัยเงินลงทุนไม่น้อยเลยทีเดียว ทำให้ภูฏานต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านมหาอำนาจ คือ จีน อินเดีย เนื่องจากเมืองเกเลพูอยู่ใกล้ชายแดนอินเดีย อินเดียจึงเปิดเกมรุกก่อนจีน ประกาศทุ่มเงินช่วยเหลือภูฏานสูงถึง 1,200 ล้าน ดอลลาร์ ราว 42,000 ล้าน บาทใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังออกปาก จะ ช่วยสร้างถนนหนทาง ทางรถไฟ และสนามบินใหม่ ในเมืองใหม่ ให้ด้วย ทางการอินเดียยังกระซิบภูฏานด้วยว่า พวกเศรษฐีอินเดียกำลังเบื่อหน่ายความแออัดในเมืองใหญ่ มีแผนที่จะไปซื้อที่อยู่อาศัยใน “เมืองแห่งสติเกเลพู” แน่นอน บริษัทยักษ์ใหญ่อินเดีย เช่น Reliance Group, Adani Group ก็เตรียมไปลงทุนในเมืองใหม่นี้เต็มที่
จุดเด่นของ “เมืองแห่งสติเกเลพู” ที่รัฐบาลภูฏานกำหนดไว้ก็คือ เป็นเมืองไฮเทค เป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ศูนย์คริปโตเคอร์เรนซี ฯลฯ โดยภูฏานระบุว่ามี ไฟฟ้าจากพลังนํ้า อย่างเพียงพอ ปัจจุบันผลิตได้ราว 2.5 กิกะวัตต์ ในอนาคตสามารถผลิตได้ถึง 30 กิกะวัตต์ รองรับการใช้นํ้าและไฟฟ้าของดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างสบาย
แม้ภูฏานจะประกาศสร้างเมืองใหม่ “เมืองแห่งสติเกเลพู (GMC)” แห่งนี้มาเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า จะเริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ที่น่าสนใจก็คือ เมืองไฮเทคแห่งนี้จะเป็นเมืองแห่งความสุขและเมืองแห่งสติคู่กับเศรษฐกิจไฮเทคได้จริงหรือไม่ ถือเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจ ก็เก็บมาเล่าสู่กันฟังครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม