เหตุการณ์ความขัดแย้ง “ในภูมิภาคตะวันออกกลาง” นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทนำมาซึ่งการจับอาวุธเข้าห้ำหั่นกันบานปลายไปสู่ “สงครามหลายพื้นที่” แล้วนานวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าย้อนดูยุคโบราณ “ตะวันออกกลางค่อนข้างมีความมั่งคั่ง” เป็นแหล่งอารยธรรมการพัฒนาโลกสามารถมองผ่านได้จากอียิปต์โบราณ หรืออารยธรรมเมโสโปเตเมียที่หลงเหลือให้เห็นอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นถิ่นกำเนิดของ 3 ศาสนาใหญ่ของโลกอย่าง “อิสลาม คริสต์ และยูดาห์” ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 4 พันล้านคน

แต่สาเหตุ “เกิดความวุ่นวาย” เกิดจากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาแทรกแซง “นับแต่การค้นพบแหล่งน้ำมันมหาศาล” กลายเป็นจุดที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ทางการทหาร และเศรษฐกิจของโลก แถมเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรปตะวันตก

สำหรับผ่าน “ทะเลแดง-ช่องแคบสุเอซ” ทำให้เป็นที่หมายปองของมหาอำนาจโลกมาครอบครองขยายอิทธิพลให้มีบทบาทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนำมาสู่ “ความขัดแย้งก่อเกิดสงคราม” สังเกตจากตะวันออกกลางเต็มไปด้วย “กลุ่มก่อการร้าย” จนสงสัยระหว่างจักรวรรดินิยม และการก่อการร้ายสิ่งใดคือต้นเหตุสงครามที่เกิดขึ้นกันแน่

ในอนาคต “ตะวันออกกลางก็ยากจะคาดเดา” เพราะมีหลายเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงฉับพลันอย่าง “ฮามาสบุกอิสราเอล” ก็ไม่มีใครคาดคิดจะกล้าโจมตีมหาอำนาจอันดับ 4 ของโลก แล้วยิ่งประหลาดใจกว่านั้น “กลุ่มกบฏในซีเรียโค่นล้มอำนาจผู้นำเผด็จการได้ใน 12 วัน” สิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลันไม่แน่นอนกระทบต่อผลประโยชน์ของไทย

...

เช่นนี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความเข้าใจการเมือง ความขัดแย้ง สงครามในตะวันออกกลาง 3 เรื่อง ผ่านหัวข้อสงครามตะวันออกกลางกับผลกระทบดุลอำนาจทางการเมืองโลก ในหลักสูตรเพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : กระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อหลังโลกาภิวัตน์รุ่นที่ 2 (ลกส.2)

เรื่องแรก...“ความเป็นชนเผ่า” ด้วยตะวันออกกลางส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย “การแยกตัวไม่อาจดำรงได้ต้องรวมกันเป็นชนเผ่า” แตกออกเป็นหลายกลุ่มเกิดการปล้นสะดมแย่งชิงผลประโยชน์จนเกิดสงคราม

สิ่งนี้เป็นพื้นที่ฐานของ “คนอาหรับ” เพราะเมื่อใดก็ตามรัฐอ่อนแอมักเกิดความรู้สึกของความเป็นชนเผ่าสูงขึ้นนำมาสู่ “การก่อเกิดสงครามกลางเมือง” โดยเฉพาะในลิเบีย ซีเรียมีขบวนการติดอาวุธสังกัดชนเผ่ากว่า 100 กลุ่ม ดังนั้น แม้โลกจะเปลี่ยนความรู้สึกของชนเผ่าในโลกอาหรับก็ยังมีการจับอาวุธเพื่อปกป้องกลุ่มตัวเองเช่นเดิม

เรื่องที่สอง...“ศาสนาอิสลาม” จากชนเผ่าแตกแยกสู้รบกันมากมายนำมาสู่การก่อเกิดศาสนาอิสลามในตะวันออกกลางในศตวรรษที่ 7 เริ่มเข้ามาสอนความเป็นประชาชาติ “พี่น้องร่วมสายเลือดทางศาสนาเดียวกัน” เกิดการหลอมรวมชนเผ่าเมื่อ 200-300 ปีก่อน “เป็นอาณาจักร” สร้างอารยธรรมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ด้วยการใช้กรุงแบกแดดเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดให้ชาติตะวันตกผ่าน “สเปน” เพราะสมัยก่อนอิสลามปกครองมานานกว่า 800 ปี จนนำมาสู่ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมยุโรป” ทำให้ชาติตะวันตกเป็นมหาอำนาจของโลกทุกวันนี้

เรื่องที่สาม...“ลัทธิอาณานิคม” เมื่อชาติตะวันตกเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ต้องการทรัพยากร วัตถุดิบ “ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม” ก็เริ่มเข้ามายึดครองดินแดนของคนอื่น “เป็นเจ้าอาณานิคม” โดยเฉพาะในดินแดนภูมิภาคตะวันออกกลางหลายแห่งตกเป็นเมืองขึ้นจาก “ชาติตะวันตก” อันมีแนวคิดว่าศาสนาเป็นความล้าหลัง

เมื่อเป็นเช่นนี้ฝรั่งเข้ามามักจัดระเบียบในตะวันออกกลางผ่าน “ชนชั้นนำ” สิ่งที่กล่าวมา 3 เรื่องนี้ยังดำรงทับซ้อนกันอยู่ และก่อเกิดความขัดแย้งกลายเป็นสงครามมาตลอดจากขบวนการนิยมแนวทางอิสลาม

ถ้าย้อนมาดู “โดนัลด์ ทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” เชื่อว่าน่าจะยึดโยงนโยบายเดิม “ผลักดันให้เกิดพันธมิตรในภูมิภาคระหว่างรัฐอาหรับ และอิสราเอล” เพื่อรักษาผลประโยชน์ในตะวันออกกลางแล้วก็จะหันมาแข่งขันกับ “จีน” เพราะทรัมป์ต้องการลดกองกำลังไม่ต้องการใช้เงิน หรือทรัพยากรที่ไม่เกิดประโยชน์

...

ประเด็นสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่ “ความขัดแย้งใหญ่กับอิหร่าน” เพราะยุคสมัยแรกทรัมป์ค่อนข้างเดินตาม “อิสราเอล” ด้วยการสังหารคาเซ็ม สุเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ ทั้งยังยอมรับการดำรงเยรูซาเลมเป็น “เมืองหลวงอิสราเอล” ไม่เท่านั้นยังยอมรับการผนวกดินแดนโกลันฮายของซีเรียเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลด้วย

โดยเฉพาะสนับสนุน “ซาอุดีอาระเบียตัดความสัมพันธ์กาตาร์” ทั้งที่สหรัฐฯมีฐานทัพเรือใหญ่ที่สุดในอยู่กาตาร์ สิ่งนี้ทรัมป์ล้วนทำตามนโยบายพันธมิตรในตะวันออกกลางไม่ใช่นโยบายสหรัฐฯ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคนี้ “เกิดจากตัวแสดงภายใน” แต่ก็สรุปไม่ได้ว่ามหาอำนาจเข้ามากำหนด หรือตัวแสดงภายในเป็นผู้บงการ

ความกังวลถัดมาถ้าดูช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “ทรัมป์” เคยประกาศว่าโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจาก “ความประสงค์ของอิสราเอล” หากเดินตามทางนี้จะทำให้เป็นสงครามขนาดใหญ่ในตะวันออกกลางแท้จริงแน่ๆ แต่การจะทำสงครามกับอิหร่านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

...

เพราะศักยภาพของอิหร่านทำลายพันธมิตรและผลประโยชน์ของสหรัฐฯทั้งหมดได้ แถมยังมีอิทธิพลปิดเส้นทางขนส่งผ่านทะเลแดง ช่องแคบฮอร์มุซ คลองสุเอซอันเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าสำคัญของโลก เช่นนี้สหรัฐฯจะเปิดศึกสงครามตรงกับอิหร่านจึงไม่ใช่เรื่องง่ายแม้เป็นความต้องการของอิสราเอลมาตลอดก็ไม่เคยเกิดขึ้นสักที

จริงๆแล้ว “ประเทศไทยนับเป็นส่วนหนึ่งของโลกมุสลิม” เพราะเป็นสมาชิกสังเกตการณ์โอไอซี และประเทศมหาอำนาจร่ำรวยน้ำมันก็ให้ความสนใจอย่าง “ซาอุดีอาระเบีย” ต้องการแรงงานไทยมาก ดังนั้นหลังจากนี้ “ตะวันออกกลาง” โดยเฉพาะประเทศอ่าวเปอร์เซียกำลังเป็นความหวังใหม่ของประเทศไทยในอนาคต

เพียงแต่สถานการณ์ในตะวันออกกลาง “ไม่มีความแน่นอน” เช่นนี้ไทยต้องแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ “ไม่ยุ่งเกี่ยวฝักใฝ่ความขัดแย้งใดๆ” เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของเราในกลุ่มตะวันออกกลางเหมือน “จีน” เข้ามามีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์เป็นตัวกลางประสานฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงความขัดแย้งต่างๆ

ตั้งแต่กรณี “ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่านจนสำเร็จ” เพราะจีนที่มุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้แต่ปัญหาในปาเลสไตน์ก็กำลังจะเข้าไปเจรจา แต่เกิดเหตุกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเสียก่อน

ฉะนั้นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง “เกิดจากตัวแสดงภายใน” หากอิสราเอล-อิหร่านเห็นตรงกันต้องการสันติ “ความสงบสุขก็เกิดได้ไม่ยาก” หากมุ่งแข่งขันกันย่อมเกิดสงครามยืดเยื้อไม่มีวันจบแน่.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

...