ไม่นานมานี้ เพิ่งมีการจัดพิธีมอบรางวัลโนเบลอันทรงเกียรติ ประจำปี 2567 ทั้งในสาขาฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม และสันติภาพ ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และหนึ่งในผู้ครองรางวัลอันทรงเกียรติที่น่าสนใจไม่แพ้ใคร คือ “ฮัน คัง” นักเขียนชาวเกาหลีใต้ วัย 54 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โดยฮัน คังถือเป็นผู้หญิงชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลในสาขานี้ และเป็นชาวเกาหลีใต้คนที่ 2 ต่อจาก คิม แดจุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้ครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2543
แน่นอนว่าในเกาหลีใต้ก็มีความภาคภูมิใจกับเธอผู้นี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในนครควังจู จังหวัดชอลลานัมโด บ้านเกิดของฮัน คัง โดยผู้เขียนมีโอกาสเยือนเมืองควังจูในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นป้ายที่ติดอยู่ตามถนน อาคารและตลาดคนเดิน ทั้งแสดงความยินดี รวมถึงขอบคุณนักเขียนผู้นี้อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยว่า “ฮัน คัง ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ลูกสาวเมืองควังจูที่ทำให้ควังจูเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก!”
ฮัน คังนำเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนในควังจูกับรัฐบาลทหารของ พล.อ.ชอน ดูฮวาน อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อ 18 พ.ค.2523 ซึ่งในตอนนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 200 ราย มาร้อยเรียงเป็นบทประพันธ์ชื่อว่า “Human Acts” มีทั้งเรื่องราวของเด็กชายดงโฮ ที่ตามหาร่างไร้วิญญาณของเพื่อนรัก แม่ที่สูญเสียบุตรชายอันเป็นที่รัก การทำงานของสื่อที่ยากลำบากภายใต้การควบคุมจากรัฐบาล เหยื่อที่ได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ และเรื่องราวของฮัน คัง ที่มาเฉลยในตอนสุดท้ายว่าความจริงแล้ว บ้านที่เด็กชายดงโฮอาศัยในเรื่อง เคยเป็นของครอบครัวของเธอมาก่อนที่จะย้ายไปกรุงโซล และไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดเหตุรุนแรงสร้างความเศร้าโศกและความเจ็บปวดในควังจู
...
แม้ผลงานที่โดดเด่นของฮัน คังคือ “The Vegetarian” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อปี 2558 เรื่องราวความเจ็บปวดของหญิงสาวที่ปฏิเสธการรับประทานเนื้อสัตว์และหันมาเป็นมังสวิรัติ แต่ Human Acts ยังคงมีความสำคัญกับชาวควังจูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง การบันทึกประวัติศาสตร์ให้คนจดจำและไม่ลืมเลือน แต่น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย หากสนใจจะอ่านก็ต้องอ่านจากต้นฉบับภาษาเกาหลี หรือภาษาอังกฤษกันไปก่อน.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม