• ชายวัย 50 ปี ก่อเหตุขับรถพุ่งชนผู้คนที่ตลาดคริสต์มาสในเมืองทางตะวันออกของเยอรมนี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย

  • ชายคนนี้ถูกจับกุมตัวได้ในที่เกิดเหตุ และถูกระบุว่า เป็นหมอชาวซาอุฯ ที่เข้ามาอยู่ในเยอรมนีนานกว่าทศวรรษแล้ว และพัฒนาแนวคิดต่อต้านอิสลามมากขึ้นเรื่อยๆ

  • สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ทางการของซาอุดีอาระเบียเคยเตือนเยอรมนีเกี่ยวกับชายคนนี้หลายครั้งแล้ว แต่คำเตือนทั้งหมดถูกเพิกเฉย

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. 2567 ชายคนหนึ่งก่อเหตุขับรถพุ่งเข้าใส่ฝูงชนที่กำลังเดินซื้อของที่ตลาดคริสต์มาส ในเมืองแม็กเดบูร์ก ทางตะวันออกของเยอรมนี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ศพ รวมถึงเด็กอายุเพียง 9 ขวบ และมีผู้บาดเจ็บอีกมากกว่า 200 ราย ในจำนวนนี้อาการอยู่ในขั้นวิกฤติหลายสิบคน

ชายคนนั้นถูกจับได้ในที่เกิดเหตุ และถูกระบุว่าชื่อ ทาลีบ อัล-อับดุลโมห์เซน หมอชาวซาอุดีอาระเบีย ผู้อพยพเข้ามาอยู่ในเยอรมนีนานกว่าทศวรรษแล้ว

เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนและสอบปากคำชายคนนี้ เพื่อหาแรงจูงใจในการก่อเหตุ โดยอับดุลโมห์เซนมีประวัติพูดหรือโพสต์ข้อความต่อต้านศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง และอ้างตัวว่าเป็นนักเคลื่อนไหวที่คอยช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะผู้หญิง ให้หนีออกจากซาอุดีอาระเบีย และอาจมีความไม่พอใจต่อการปฏิบัติที่ผู้ลี้ภัยชาวซาอุฯ ได้รับในเยอรมนี

โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

...

เกิดอะไรขึ้น?

เสียงโทรศัพท์แจ้งเหตุร้ายครั้งที่ 1 ต่อถึงเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินเมืองแม็กเดบูร์กในเวลา 19.02 น. ของวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. โดยผู้โทรระบุว่า มีรถยนต์คันหนึ่งพุ่งเข้าใส่ฝูงชนในตลาดคริสต์มาสใจกลางเมือง และในตอนนั้น เขายังเชื่อว่านี่เป็นอุบัติเหตุ แต่ความจริงกระจ่างขึ้นในเวลาต่อมาว่า มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ตำรวจระบุว่า คนขับรถคันนี้ บังคับรถขึ้นไปบนทางคนเดิน แล้ววิ่งไปยังทางเข้าตลาดซึ่งสงวนไว้ให้รถฉุกเฉินเท่านั้น ชนผู้คนระหว่างทางจนได้รับบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง ก่อนที่เขาจะขับรถด้วยความเร็วสูง พุ่งเข้าไปในตลาด บนถนนคนเดินระหว่างร้านค้าสองฟากฝั่ง ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คน

จากนั้นคนร้ายก็ขับรถกลับลงมาบนถนนที่เขาเข้ามา ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ซึ่งเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุแล้ว หยุดเอาไว้ได้ และคนขับรถก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ข้างรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยูที่เขาใช้ก่อเหตุ ซึ่งอยู่ในสภาพเสียหายทั้งบริเวณกันชนหน้า และกระจกกันลม โดยเหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เกิดขึ้นภายในเวลา 3 นาทีเท่านั้น

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่เยอรมนีระบุจำนวนผู้เคราะห์ร้ายเอาไว้ที่ เสียชีวิต 2 ศพ บาดเจ็บอีก 68 ราย ก่อนจะปรับจำนวนขึ้นอย่างมากในเช้าวันอาทิตย์ เป็นมีผู้เสียชีวิต 5 ศพ รวมถึงเด็กวัย 9 ขวบ และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 200 ราย โดย 41 คนในจำนวนนี้ มีอาการอยู่ในขั้นวิกฤติ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก

รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ
รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ

ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเป็นใคร?

สื่อท้องถิ่นของเยอรมนีระบุตัวผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ว่าคือนาย ทาลีบ อัล-อับดุลโมห์เซน จิตแพทย์ชาวซาอุดีอาระเบียวัย 50 ปี ผู้อาศัยอยู่ที่เมืองแบร์นบูร์ก ซึ่งห่างจากเมืองแม็กเดบูร์กเพียง 40 กม.

เจ้าหน้าที่กำลังสอบปากคำชายคนนี้เพื่อหาแรงจูงใจในการก่อเหตุ โดยนายฮอร์สต์ วอลเตอร์ โนเปินส์ หัวหน้าสำนักงานอัยการเมืองแม็กเดบูร์ก กล่าวว่า สำนักงานของเขาต้องการเวลามากกว่านี้ในการระบุมูลเหตุจูงใจ แต่การสืบสวนที่ยังคงดำเนินการอยู่บ่งชี้ว่า เขาอาจมีความไม่พอใจเรื่องการปฏิบัติที่ผู้ลี้ภัยชาวซาอุดีอาระเบียได้รับในเยอรมนี

นายโนเปินส์เผยด้วยว่า ผู้ต้องสงสัยรายนี้อาจถูกฟ้องร้องข้อหาฆาตกรรม 5 กระทง และพยายามฆ่าอีก 205 กระทง

ตามการเปิดเผยของนาง ทามารา เซสชัง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยประจำรัฐซัคเซิน-อันฮัลท์ นายอับดุลโมห์เซนเดินทางมายังเยอรมนีครั้งแรกในปี 2549 ก่อนจะได้ใบรับอนุญาตเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในเยอรมนี โดยทำงานเป็นหมอในเมืองแบร์นบูร์ก

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า องค์กรนักเคลื่อนไหว “RAIR Foundation USA” เคยสัมภาษณ์นายอับดุลโมห์เซนเมื่อ 12 ธ.ค. และเขาบรรยายตัวเองว่าเป็นผู้คอยช่วยเหลืออดีตผู้ลี้ภัยที่หนีการข่มเหงในซาอุดีอาระเบีย

ชายคนนี้ยังมีแนวคิดต่อต้านศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง โดยในข้อความที่เขาโพสต์ผ่าน X ซึ่งตอนนี้ถูกลบไป ระบุว่า เขาเป็นผู้เห็นต่างชาวซาอุดีอาระเบีย และละทิ้งศรัทธาในศาสนาอิสลาม รวมทั้งแสดงความเห็นด้วยกับวาทกรรมรุนแรงของกลุ่มขวาจัด และกล่าวหาว่ารัฐบาลเยอรมนีสนับสนุนการทำให้ประเทศเป็นอิสลาม

น.ส.แนนซี เฟเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี กล่าวว่า ถึงแม้เธอจะยังไม่คาดเดาเรื่องแรงจูงใจในการก่อเหตุของคนร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่เธอสามารถยืนยันได้คือ ผู้ต้องสงสัยมีแนวคิดหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobic)

ตามรายงานของสำนักข่าว แดร์ ชปีเกล สื่อใหญ่ของเยอรมนี นายอับดุลโมห์เซนเคยถูกแจ้งความมาแล้วเมื่อปีก่อน จากข้อความที่เขาโพสต์บนโลกออนไลน์ แต่เจ้าหน้าที่ในเวลานั้นสรุปว่า ข้อความของเขาไม่มีความเสี่ยงอย่างปัจจุบันทันด่วนที่จำเป็นต้องได้รับความสนใจหรือตอบสนองในทันที

...

ซาอุฯ เคยเตือนหลายครั้งแล้ว

กระทรวงต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียออกมาประณามเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง หลังมีการเปิดเผยว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นชาวซาอุฯ

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าว 2 คนว่า ทางการซาอุฯ เคยเตือนเจ้าหน้าที่รัฐบาลของเยอรมนีเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยรายนี้หลายครั้งแล้ว

การเตือนครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2550 โดยซาอุดีอาระเบียกังวลเรื่องการแสดงความเห็นอย่างรุนแรงของนายอับดุลโมห์เซน พวกเขายังจัดให้ชายคนนี้เป็นผู้ร้ายหลบหนี และพยายามขอให้เยอรมนีส่งตัวเขากลับมาดำเนินคดีในช่วงปี 2550-2551 แต่เจ้าหน้าที่เยอรมันปฏิเสธ อ้างว่ากังวลเรื่องความปลอดภัยของชายคนนี้หากเขาถูกส่งตัวกลับไป

หลังจากนั้น ทางการซาอุฯ ยังแจ้งเตือนเกี่ยวกับชายคนนี้อย่างเป็นทางการอีกถึง 4 ครั้ง ในรูปแบบ “สารบันทึกวาจา” (Note Verbale) โดย 3 ฉบับถูกส่งถึงหน่วยข่าวกรองของเยอรมนี อีกฉบับส่งถึงกระทรวงต่างประเทศ แต่แหล่งข่าวระบุว่า เอกสารทั้ง 4 ฉบับถูกเพิกเฉยทั้งหมด

แหล่งข่าวบอก ซีเอ็นเอ็น ด้วยว่า ทางการซาอุฯ กล่าวหาผู้ต้องสงสัยรายนี้ว่า ข่มขู่ชาวซาอุฯ ในต่างประเทศที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากเขา เจ้าหน้าที่เน้นย้ำด้วยว่า ชายคนนี้กลายเป็นผู้สนับสนุนพรรค AfD ฝ่ายขวาจัดของเยอรมนี และพัฒนาแนวคิดต่อต้านอิสลามขึ้นมา

ซีเอ็นเอ็นได้ติดต่อกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนีเพื่อสอบถามเรื่องคำเตือนดังกล่าว แต่ถูกบอกให้ติดต่อกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่งต่อพวกเขาไปยังสำนักงานอัยการรัฐในเมืองแม็กเดบูร์ก และจนถึงตอนนี้ ซีเอ็นเอ็น ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnnbbc

...