เมื่อไปเยือนต่างแดน สิ่งที่เรามักให้ความสนใจคือการลิ้มรสอาหารนานาชนิดที่ต่างไปจากรสชาติที่เราเคยคุ้นชิน เพราะหากพลาดโอกาสดีๆแบบนี้ไปคงจะเสียดายเป็นแน่
ในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเยือนจังหวัดชอลลานัมโด ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลีใต้ ตามคำเชิญขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีประจำประเทศไทย (Korea Tourism Organization) ได้ลิ้มลองชาผลไม้ที่อุดมไปด้วยสรรพคุณมากมายที่ดีต่อสุขภาพในระหว่างการเยือนนครควังจู เมืองเอกของจังหวัดดังกล่าวอย่าง “โอมีจาซอกรยูชา” หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “ชาโอมีจาทับทิม” โดยชาสีแดงใสชนิดนี้ทำมาจากทับทิม และ “โอมีจา” (แปลว่า 5 รสชาติ) หรือแมกโนเลียเบอร์รี (Magnolia Berry) หากเรียกง่ายๆ ก็คือ เบอร์รี 5 รส คือ เค็ม หวาน เปรี้ยว เผ็ดและขม ซึ่งมักพบได้ในเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่นและไต้หวัน
ในอดีตนั้นโอมีจายังไม่ได้ถูกนำไปรังสรรค์เป็นเมนูที่หลากหลายดังเช่นในปัจจุบัน แต่ผลโอมีจาถูกใช้เป็นสมุนไพรในการบำรุงรักษาทางการแพทย์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบขับถ่าย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ดีต่อดวงตาและปอด บรรเทาอาการไข้หวัด รวมถึงทำให้ร่างกายสดชื่น สอดคล้องกับตำราแพทย์ทงอึยโบกัม ซึ่ง
เป็นหลักการและแนวปฏิบัติทางการแพทย์ตะวันออกยังระบุว่า โอมีจาช่วยฟื้นฟูพลังงานให้แก่ร่างกาย ดีต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไตและปอด เสริมสร้างพลังงานหยาง ทำให้ร่างกายมีชีวิตชีวา
ส่วนตำรายาแผนจีนอย่างเปิ๋นเฉ่ากังมู่ ของหลี่สือเจิน แพทย์และเภสัชกรชาวจีนโบราณ ก็บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรเอาไว้ด้วยว่า แต่ละรสชาติของโอมีจาก็ยังมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน โดยรสเปรี้ยวจะช่วยในเรื่องของปอดและตับ รสหวานดีต่อกระเพาะและม้าม รสเค็มดีต่อไต ส่วนรสเผ็ดและขมดีต่อระบบหัวใจ
...
คณะผู้นำทางในทริปนี้ยังได้เล่าให้ฟังในระหว่างจิบชาว่า แต่ละคนจะได้รับรสชาติที่แตกต่างกันด้วย บางคนดื่มเข้าไปแล้วรู้สึกขมนำหรือไม่ก็เปรี้ยวนำ ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่ากำลังมีปัญหาสุขภาพใดอยู่หรือไม่ เมื่อได้ยินดังนั้นจึงต้องรีบชิมชาที่วางอยู่ตรงหน้าเพื่อพิสูจน์ทันทีและได้รู้ว่าเพื่อนร่วมทริปบางคนรู้สึกขม ส่วนผู้เขียนได้รสเปรี้ยวอมหวาน เห็นทีคงต้องหาเวลาไปตรวจสุขภาพบ้างเสียแล้ว...
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม