ผู้คนหลายร้อยคนหรืออาจถึงหลายพันคน อาจเสียชีวิตที่หมู่เกาะมายอตต์ หลังจากพายุไซโคลนที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี พัดถล่มดินแดนในมหาสมุทรอินเดียของฝรั่งเศส
ผู้คนหลายร้อยคนหรืออาจถึงหลายพันคน อาจเสียชีวิตที่หมู่เกาะมายอตต์ หลังจากพายุไซโคลนที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี พัดถล่มดินแดนในมหาสมุทรอินเดียของฝรั่งเศส ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงพยายามเข้าถึงชุมชนบางแห่งเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต
ชุมชนหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังจากพายุไซโคลนชิโด พัดถล่มด้วยความเร็วลมมากกว่า 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยประชาชนที่มีฐานะยากจนซึ่งอาศัยอยู่ตามเพิงพัก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประชากรบางส่วนของมายอตต์ ราว 320,000 คน กล่าวว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำ และที่พักพิงอย่างรุนแรง
ประชาชนที่อาศัยชุมชนที่ยากจน รวมถึงผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารซึ่งเดินทางไปยังดินแดนของฝรั่งเศสเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย เชื่อกันว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากที่อยู่อาศัยของพวกเขาถูกสร้างขึ้นแบบง่ายๆ ขณะที่ประชากรของมายอตต์ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจากฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก และต้องต่อสู้กับความยากจน การว่างงาน และความไม่มั่นคงทางการเมืองมาเป็นเวลานาน โดยประชากรประมาณ 75% อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของประเทศ และอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า เขาขอส่งความปรารถนาดีไปยัง "เพื่อนร่วมชาติของเราในมายอตต์ ซึ่งต้องผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุด และสำหรับบางคน พวกเขาต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง บางคนต้องเสียชีวิต" แม้ว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบรรเทาทุกข์ชาวฝรั่งเศสบางส่วนจะเดินทางไปถึงมายอตต์แล้ว แต่ความพยายามในการเดินทางไปยังชุมชนบางแห่งยังคงดำเนินต่อไป
...
นายฟรองซัวส์-ซาเวียร์ บิเออวิลล์ ผู้ว่าราชการเกาะ กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อประเมินความเสียหายทั้งหมดได้แล้ว โดยเขาเตือนว่ายอดผู้เสียชีวิต "น่าจะอยู่ที่หลายร้อยคน" และอาจสูงถึงหลายพันคน
บรูโน รีเทลโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส ซึ่งมีกำหนดเยือนเกาะแห่งนี้ ยอมรับว่าพายุไซโคลนลูกนี้ "มีความรุนแรงเป็นพิเศษ" และรับรองว่าทางการกำลังเพิ่มความพยายามในการช่วยเหลือประชาชน
พายุไซโคลนชิโด ยังก่อให้เกิดกระแสลมแรงและฝนตกหนักในประเทศโมซัมบิก โดยขึ้นฝั่งเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ ห่างจากเมืองเพมบา ทางตอนเหนือไปทางใต้ประมาณ 40.2 กม. เจ้าหน้าที่รายงานว่าพายุไซโคลน ทำให้โครงสร้างได้รับความเสียหายและไฟฟ้าดับในจังหวัดนัมปูลาและกาโบเดลกาโด ทางชายฝั่งตอนเหนือเมื่อเช้าวันเสาร์
กาย เทย์เลอร์ โฆษกของหน่วยงานช่วยเหลือยูนิเซฟในโมซัมบิกกล่าวว่า บ้านเรือนหลายหลังถูกทำลายหรือเสียหายอย่างหนัก และสถานพยาบาลและโรงเรียนต่างๆ ก็หยุดให้บริการ และกล่าวว่ายูนิเซฟมีความกังวลเกี่ยวกับ การสูญเสียการเข้าถึงบริการที่สำคัญรวมถึงการรักษาพยาบาล น้ำสะอาดและสุขอนามัย และยังรวมถึง การแพร่ระบาดของโรค เช่น อหิวาตกโรคและมาลาเรีย.
ที่มา BBC
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign