ในอดีตมีผู้นำประเทศถูกถอดถอนเยอะ อย่างสหรัฐฯ ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน โดนถอดถอนเพราะละเมิดกฎหมาย Tenure of Office Act เพราะปลดรัฐมนตรีกลาโหมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐสภา สส.ยกมือถอดถอนเรียบร้อย แต่พอถึงวุฒิสภา มีคะแนนไม่ครบ 2 ใน 3 จึงรอดไป
บิล คลินตัน ก็เคยโดนถอดถอนข้อหาให้การเท็จและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมในคดีความสัมพันธ์กับลูวินสกี้ แต่พอถึงวุฒิสภา คะแนนที่จะถอดถอนก็ไม่ครบ 2 ใน 3 เช่นเดียวกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ โดนถอดถอน 2 ครั้ง ครั้งแรก ค.ศ.2019 ข้อหากดดันอูเครนให้สอบสวนคู่แข่งขันทางการเมือง ครั้งที่สอง ค.ศ.2021 ข้อหาปลุกปั่นเหตุการณ์จลาจลในรัฐสภา แต่ก็มารอดในวุฒิสภาเช่นเดียวกัน
ที่เกาหลีใต้ ค.ศ.2016 ประธานาธิบดีพัค กึน–ฮเย โดนถอดถอนข้อหาพัวพันคอร์รัปชันและใช้อำนาจในทางไม่ชอบร่วมกับเพื่อนสนิท เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอนแล้ว พัคหยุดปฏิบัติหน้าที่ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อ
พัค กึน-ฮเย โดนศาลรัฐธรรมนูญยืนยันการถอดถอนเมื่อ ค.ศ.2017 ทำให้เธอกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่ถูกถอดถอนอย่างสมบูรณ์
ค.ศ.2004 ประธานาธิบดีโน มู-ฮยอน ของเกาหลีใต้ โดนสภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะสนับสนุนพรรครัฐบาลในขณะนั้นในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผิดกฎหมายที่กำหนดให้ประธานาธิบดีต้องวางตัวเป็นกลางในกระบวนการเลือกตั้ง
สภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอนโน มู-ฮยอน ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก และถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยให้โก คอน นายก รัฐมนตรีรักษาการประธานาธิบดี พอถึง 14 พฤษภาคม 2004 ศาล รัฐธรรมนูญมีมติไม่สนับสนุนการถอดถอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยเหตุผลว่า การกระทำของโน มู-ฮยอน ไม่ร้ายแรงพอที่จะปลดออกจากตำแหน่ง โน มู-ฮยอน จึงได้รับการคืนสถานะและกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีต่อไป
...
ในกรณีของประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเกาหลีใต้ ยุน ซอก-ยอล แกประกาศกฎอัยการศึกอย่างกระทันหัน เมื่อกลางดึกของ 3 ธันวาคม 2024 โดยไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือภัยคุกคามที่ชัดเจน หลังจากโดนประท้วงและคัดค้านจากสาธารณชนและสมาชิกสภาฯ ประธานาธิบดียุนก็กลับลำยกเลิกกฎอัยการศึกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคจึงยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุน โดยอ้างว่าการกระทำของแกละเมิดรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย 14 ธันวาคม 2024 สภาฯ ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุนด้วยเสียงข้างมาก คะแนน 204 ต่อ 85 เสียง (จากสมาชิกสภาทั้งหมด 300 คน) ทำให้แกต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที และให้ฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี จากนั้นก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
ชะตากรรมของประธานาธิบดียุนก็มี 2 แนวทาง แนวทางแรกก็อาจจะเป็นอย่างเดียวกับอดีตประธานาธิบดีโน มู–ฮยอน (ค.ศ.2004) ที่ศาลฯมีมติไม่สนับสนุนการถอดถอนและคืนสถานะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีเหมือนเดิม อีกแนวทางหนึ่งก็อาจจะเหมือนอดีตประธานาธิบดี
พัค กึน–ฮเย (ค.ศ.2016–2017) ที่ศาลฯ ยืนยันการถอดถอน ทำให้พัคตกจากเก้าอี้ประธานาธิบดี
การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดระยะเวลา 180 วัน หากศาลฯ ยืนยันการถอดถอน จะต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ภายใน 60 วัน หลายท่านวิเคราะห์เหมือนกับว่า นี่คือการสิ้นสุดยุคของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่ใช่นะครับ
การเมืองเกาหลีใต้วุ่นวายขายปลาช่อน ประชาชนตกใจจากการประกาศกฎอัยการศึก เพราะในอดีตเมื่อ ค.ศ.1980 เคยมีการประกาศกฎอัยการศึกที่นำไปสู่เหตุการณ์ที่เมืองควังจู รู้จักกันในชื่อการลุกฮือที่ควังจู หรือการสังหารหมู่ที่ควังจู ตอนนั้นชุน ดู-ฮวาน ใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนและนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองควังจูอย่างรุนแรง ทำให้มีคนตายไปมากกว่า 200 คน
การประกาศกฎอัยการศึกใน ค.ศ.1980 ทำให้คนเกาหลีใต้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง และไม่เคยเกิดรัฐประหารอีกเลยนับตั้งแต่ ค.ศ.1992 เป็นต้นมา
การประกาศกฎอัยการศึกใน ค.ศ.2024 ของประธานาธิบดียุนจึงเป็นเรื่องรุนแรงมากและยอมรับไม่ได้ในสายตนคนเกาหลีใต้.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม