กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังจากประเทศ “ซีเรีย” ตกอยู่ในสภาพสุญญากาศทางอำนาจ ไม่มีรัฐบาลเป็นตัวเป็นตน ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ถูกโค่นลงจากอำนาจด้วยฝีมือของเครือข่ายกองกำลังกบฏต่อต้านรัฐบาล นำโดยกลุ่มที่ชื่อว่า “ฮายัต ทาห์รี อัล ชาม” (HTS) ซึ่งใช้เวลา 11 วัน ในการบุกทะลวงสายฟ้าแลบ เข้ายึดครองกรุง “ดามัสกัส” จัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนมือ ปูทางสู่การถือกำเนิดของรัฐบาลกบฏถาวรในเดือน มี.ค.2568

ถือเป็นการปิดฉากภารกิจถอนรากถอนโคนตระกูลอัสซาดอย่างสมบูรณ์ และจบสงครามกลางเมืองซีเรียอันยาวนานกว่า 12 ปี เพื่อนำไปสู่ “สงครามกลางเมืองรอบใหม่” ของการแย่งชิงอำนาจและอิทธิพลภายในเครือข่ายกบฏต่อต้านรัฐบาล ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว

เพียงแต่ตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาของการพักเบรกชั่วคราว สื่อชาติตะวันตกพากันยกย่องสรรเสริญเหล่า “วีรบุรุษ” ผู้โค่นล้มรัฐบาลอันชั่วร้ายของผู้นำอัสซาด และมอบอิสรภาพ เสรีภาพคืนแก่ประชาชนชาวซีเรีย ทั้งพร้อมที่จะลืมไปเสียสนิทว่า แกนนำของกลุ่มกบฏมี “โปรไฟล์” ที่แสนจะโดดเด่น เคยเป็น อดีตผู้บัญชาการกองกำลังรัฐอิสลามไอเอสในซีเรีย ผู้ก่อตั้งกลุ่มเจบัต อัล นุสรา เครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายสากลอัลเคดา ก่อนผันตัวมาเป็นผู้นำซีเรียเสรี บัญชาการกลุ่มฮายัต ทาห์รี อัล ชาม ซึ่งชาติตะวันตกขึ้นบัญชีดำเป็นกลุ่มก่อการร้าย

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจของการรีเซ็ตประเทศซีเรียอยู่ที่ความซับซ้อนของ “เกมอำนาจ” ในภูมิภาคและระดับโลก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงกบฏรบกับรัฐบาลซีเรีย แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองโลกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ที่สามารถจำแนก “ตัวละคร” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มากมายหลายฝ่าย และสุดท้ายการที่รัฐบาลซีเรียล่มสลายในที่สุด ก็มาจากความเป็นไปได้ที่ผู้เล่นหลักๆ ยอมรับใน “ผลประโยชน์” ที่จะตามมา

...

เริ่มตั้งแต่รัฐบาล “อิหร่าน” ที่ให้คุณค่ากับซีเรียในฐานะเครือข่ายการต่อต้านอิสราเอล เป็นจุดเชื่อมโยงในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้กองกำลังติดอาวุธต่างๆในเลบานอนและปาเลสไตน์ ทั้งยังเป็นฐานปฏิบัติการของกองกำลังพิเศษอิหร่านในต่างแดน เพียงแต่การรบทางตรงและทางอ้อมกับอิสราเอลในช่วงปีที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งที่สร้างความบอบช้ำแก่อิหร่านไม่น้อย ประกอบกับการเมืองภายในอิหร่านมีแนวโน้มว่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้รัฐบาลสายกลางชุดใหม่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีมัซอูด เพเชซกียอน

ไม่รวมถึงกระแสข่าวว่าอาจมีการเปลี่ยนตัวผู้นำสูงสุดภายในปี 2568 จาก อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี กลายเป็น มอจตาบา คาเมเนอี บุตรชายวัย 55 ปี ซึ่งหากเป็นความจริงก็ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลอิหร่านต้องมีการจัดระเบียบปรับโครงสร้างอำนาจ พร้อมให้ความสำคัญกับการประคองสภาพเศรษฐกิจที่อ่วมอรทัยจากการถูกตะวันตกรุมคว่ำบาตรอย่างหนัก ดังนั้นการเสียฐานที่มั่นในซีเรีย อาจจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่ไม่สำคัญเท่ากับความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายภายใน เห็นได้จากการที่รัฐบาลและสื่อในอิหร่าน ต่างพากันกล่าวโทษว่า ผู้นำอัสซาดคือคนที่ทำให้ทุกอย่างล้มเหลว ในลักษณะที่ไม่ต่างอะไรกับการหาแพะรับบาป

สำหรับ “รัสเซีย” นั้น กระโดดเข้ามาช่วยรัฐบาลซีเรียรบสงครามกลางเมืองในปี 2558 จนสามารถกอบกู้สถานการณ์ที่ย่ำแย่ให้ฟื้นคืนมาได้ เพียงแต่รัสเซียเองก็มีความไม่พอใจเช่นกันว่า ถูกกองทัพซีเรียผลักภาระมากเกินไป ซึ่งเป็นบทเรียนที่เคยเกิดกับบรรดาชาติตะวันตกในเหตุการณ์อิรักและอัฟกานิสถาน ดังนั้นการล่มสลายของรัฐบาลซีเรียอาจเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการถอนตัวออกมาไม่ให้จมปลักไปมากกว่านี้ ประกอบกับฐานทัพของรัสเซียในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ยังอยู่ได้ตามเดิม ไม่มีใครไปแตะต้อง

 ไม่รวมถึงประเด็นโอกาสในการต่อรองกับ “ตุรกี” ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏซีเรียโค่นล้มประธานาธิบดีอัสซาด การที่รัสเซียเปิดทางให้ตุรกีเข้ามาในซีเรียสามารถนำไปสู่การเจรจาแลกเปลี่ยนต่อรองบางประการกับตุรกีในเรื่องของ “ยูเครน” ที่รัสเซียถือเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ทางรัฐบาลตุรกีเองก็สมประโยชน์ ขยายอิทธิพลเข้าไปในซีเรีย สร้างโอกาสในการขจัดกลุ่มชาวเคิร์ดที่ตุรกีตีตราเป็นกลุ่มก่อการร้ายตามตะเข็บชายแดน พร้อมกับเรียกคะแนนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลซีเรียอยู่เป็นทุนเดิม

ส่วนทาง “อิสราเอล” มีความชัดเจนว่า การล่มสลายของรัฐบาลอัสซาดคือนาทีทอง เพราะถือเป็นการทำลายฐานที่มั่นของอิหร่านในซีเรีย และตัดเส้นทางการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์แก่กองกำลังติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน หรือกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ สุญญากาศทางอำนาจในซีเรีย ยังเปิดช่องให้อิสราเอลเข้ายึด ครองดินแดนพิพาท “ที่ราบสูงโกลัน” บริเวณพรมแดนอิสราเอล-ซีเรียมาได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งยังสร้างความมั่นคงแก่ประเทศอิสราเอลในอนาคต หลังจากกองทัพอากาศอิสราเอลส่งฝูงบินรบเข้าไปทำลายคลังแสงของกองทัพซีเรียจนราบคาบ ตัดความกังวลว่ากลุ่มกบฏที่มีโอกาสออกลายในภายภาคหน้าจะนำอาวุธหนักหรืออาวุธขั้นสูงของกองทัพซีเรียมาใช้งาน นอกจากนี้ หากอิสราเอลจะมีปัญหากับอิหร่านรอบใหม่ ทางกองทัพอากาศอิสราเอลก็ไม่จำเป็นต้องกังวลกับเครือข่ายระบบต่อต้านอากาศอันน่ากลัวของกองทัพซีเรีย สามารถใช้น่านฟ้าซีเรียได้อย่างสะดวกโยธิน

สุดท้ายนี้ตัวละครอีกรายที่จะได้ผลประโยชน์จากซีเรียใหม่คงหนีไม่พ้น “สหรัฐอเมริกา” ที่ได้คะแนนการเมืองจากการสนับสนุนตุรกีและอิสราเอลจัดระเบียบซีเรีย ควบคู่ไปกับการบรรลุแผนยับยั้ง “รัสเซีย” และ “อิหร่าน” ใช้ซีเรียเป็นฐานขยายอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออก กลาง แถมดีไม่ดีหากมองจากบทเรียนสงครามอิรักแล้ว อีกไม่นานทางรัฐบาลกบฏซีเรียก็อาจมีการ “ซื้ออาวุธ” ลอตใหญ่สำหรับกองทัพโฉมใหม่ เพราะอาวุธของเดิมถูกกองทัพอิสราเอลทำลายไปจนเกลี้ยงคลังแสงนั่นเอง

...

ยังไม่รวมถึง “สหภาพยุโรป” ที่กำลังลุ้นกันว่าจะใช้โอกาสนี้ “ผลักดัน” ผู้อพยพซีเรียหลักล้านคนกลับภูมิลำเนาตามเดิมหรือไม่ เพราะล่าสุดชาติยุโรปต่างประกาศแผนปิดรับ/ยกเลิกคำร้องขอลี้ภัยของชาวซีเรียเป็นที่เรียบร้อยไม่ว่าอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย เบลเยียม สวีเดน.


วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม