โรมาเนียกับบัลแกเรีย เตรียมเข้าร่วมเขตการเคลื่อนไหวเสรี เชงเก้น อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 หลังก้าวข้ามปัญหาผู้อพยพ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 นายบุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม รายงานว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ลงมติที่เป็น “การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์” ให้โรมาเนียและบัลแกเรียเข้าสู่เขตการเคลื่อนไหวเสรีเชงเก้นอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

นายซานดอร์ ปินเตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยฮังการี ดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปแถลงว่า “การยกเลิกการควบคุมบริเวณชายแดนทางบกกับทั้งสองประเทศนี้นับเป็น ‘ช่วงเวลาประวัติศาสตร์’”

กระทรวงการต่างประเทศโรมาเนียและบัลแกเรียแถลงข่าว แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปอย่างเอกฉันท์ให้เข้าร่วมเขตการเคลื่อนไหวเสรีเชงเก้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ต้องรอคอยมานานหลายปี “นี่คือการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์” ที่เป็นเป้าหมายหรือ “วัตถุประสงค์หลัก” ของรัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรียตั้งแต่เริ่มเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2550

รัฐมนตรีมหาดไทยของสหภาพยุโรปประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ ลงมติให้ยกเลิกการตรวจบริเวณพรมแดนประเทศสมาชิกที่อยู่ติดชายแดนบัลแกเรียและโรมาเนียตามสนธิสัญญาเชงเก้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ทั้งนี้ การควบคุมชายแดนทางอากาศและทางทะเลถูกได้ยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ออสเตรียได้ยับยั้งการยกเลิกการตรวจตราชายแดนทางบกตลอดมา โดยเกรงว่าผู้อพยพจะทะลักผ่านประเทศทั้งสองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายแกร์ฮาร์ด คาร์เนอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยออสเตรีย ได้ประกาศความตั้งใจที่จะยกเลิกการวีโต้และเปิดทางให้โรมาเนียและบัลแกเรียเข้าร่วมพื้นที่เชงเก้นอย่างสมบูรณ์ หลังพบว่า จำนวนผู้อพยพที่เดินทางเข้าออสเตรียผ่านบัลแกเรียและโรมาเนียลดลงอย่างมาก

...

โครเอเชียเป็นประเทศสุดท้ายในสหภาพยุโรปที่เข้าร่วมพื้นที่เชงเก้นเมื่อเดือนมกราคม 2566 อย่างไรก็ตาม มีประเด็นการที่เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ได้รื้อฟื้นการตรวจตราบริเวณพรมแดนของตนกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเร็วๆ นี้

รัฐมนตรีมหาดไทยประเทศกลุ่มเชงเก้นจึงต้องประชุมพิจารณากรณีดังกล่าวถึงเหตุผลที่อ้างว่า เพื่อลดการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดปกติและป้องกันการลักลอบขนคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ที่มีพรมแดนติดต่อกัน ยกเว้นไอร์แลนด์และไซปรัส นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เป็นประเทศเชงเก้นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign