กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกจับตามองอย่างการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล จนนำไปสู่ความปั่นป่วนทางการเมือง ฝ่ายค้านเสนอญัตติถอดถอนยุน ซอกยอลให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากได้เสียงโหวตไม่ถึง 2 ใน 3 แต่ฝ่ายค้านก็ยังให้คำมั่นว่าจะมุ่งหน้าถอดถอนประธานาธิบดีต่อไป

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้เห็นชาวเกาหลีใต้ออกมาแสดงจุดยืนกันทั่วประเทศท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็น โดยเฉพาะที่หน้ารัฐสภาในกรุงโซล นับแต่การประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อค่ำคืนวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจในการชุมนุมครั้งนี้ยังมาจากการที่ วัฒนธรรมเคป๊อป  เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง ดังจะเห็นได้จากภาพ และวิดีโอที่ถูกแชร์บนโลกโซเชียลมีเดีย มีการขับร้องเพลงเคป๊อปอย่าง อินทู เดอะ นิว เวิลด์ (Into the New World) ของวงเกิร์ลส’ เจเนอเรชัน (Girls’ Generation) การแปลงเนื้อเพลงที่มีจังหวะสนุกๆให้มีเนื้อหาต่อต้านประธานาธิบดี ไปจนถึงการใช้แท่งไฟ ที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละวงเป็นจำนวนมาก เช่น เซเว่นทีน (Seventeen) และเอ็นซีที (NCT)

จนถึงขั้นที่ต้องมีการกล่าวแนะนำแท่งไฟของแต่ละวงบนเวทีชุมนุมว่า แท่งไฟลักษณะแบบนี้เป็นของวงอะไร และเป็นของศิลปินท่านใด ซึ่งยังช่วยกระตุ้นทั้งคนในประเทศและชาวต่างชาติให้หันมาสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปรับโทนบรรยากาศการชุมนุมไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไปเช่นกัน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนเลือกใช้แท่งไฟบนท้องถนนแทนที่จะเป็นฮอลล์คอนเสิร์ต เป็นเพราะกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง “Candlelight Action” แกนนำในการจุดเทียน ประท้วงประธานาธิบดี ได้ออกมาโพสต์เมื่อสัปดาห์ก่อน ขอแรงสนับสนุนจากแฟนคลับศิลปินเคป๊อปทั่วประเทศ ให้ออกมาแสดงพลังในการชุมนุมด้วยการนำแท่งไฟของวงต่างๆออกมาใช้

...

ในปี 2559-2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวเกาหลีใต้ออกมาประท้วงขับไล่อดีตประธานา ธิบดีพัค กึน ฮเย เคยมี สส.รายหนึ่งจากพรรคแซนูรี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น กล่าวถึงการชุมนุมจุดเทียนประท้วงของประชาชนว่า “เดี๋ยวเทียนก็จะดับไปเมื่อเจอแรงลม” กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวเกาหลีใต้บางส่วนหันมาใช้แท่งไฟแทนการจุดเทียนจริงๆมากขึ้น เพราะนอกจากแท่งไฟจะให้แสงสว่างมากกว่าเทียนแล้ว ก็ยังไม่ดับไปเมื่อถูกลมพัดผ่านเช่นกัน.

ญาทิตา  เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม