แดนโสมขาวยังเครียดจากเหตุการณ์ “ประกาศกฎอัยการศึก” ของประธานาธิบดียุน ซอกยอล แม้คำสั่งถูกยกเลิกไปแล้ว เจ้าตัวถูกตำรวจเข้าสอบปากคำ ข้อหาก่อการกบฏ รวมทั้งสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง รมช.กลาโหม ขอโทษประชาชน ปัดไม่รู้ใครเป็นคนเขียนร่างแถลงการณ์ ส่วนผู้บัญชาการทหารภายใต้กฎอัยการศึก รับเป็นแค่ผู้ตรวจสอบร่างประกาศและปฏิเสธผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้กฎอัยการศึก ผู้นำฝ่ายค้านรวมพลลงมติถอดถอนประธานาธิบดี วันที่ 7 ธ.ค. สวนทางกับหัวหน้า พรรคพลังประชาชนที่ขวางไม่ให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีได้สำเร็จ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ถึงความคืบหน้าความปั่นป่วนทางการเมืองของเกาหลีใต้ ว่า ตำรวจได้เริ่มเปิดการสืบสวนนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ข้อหาก่อการกบฏจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 ธ.ค.อ้างว่าต้องประกาศใช้เนื่องจากมีความจำเป็นปกป้องประเทศจากกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ ก่อนต้องยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการช่วงเช้าวันที่ 4 ธ.ค. ขณะเดียวกันยังดำเนินการสืบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ นายอี ซังมิน รมว.มหาดไทย พล.อ.พัค อันซู ผู้บัญชาการทหารภายใต้กฎอัยการศึกและนายคิม ยงฮยอน อดีต รมว.กลาโหมที่เพิ่งได้รับการอนุมัติการลาออกจากประธานาธิบดี ต่อมาได้แต่งตั้งให้นายชเว บยองฮยอก อดีตเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำซาอุดีอาระเบีย ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน
การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง ของนายยุน ซอกยอล ส่งผลให้ประชาชนชาวเกาหลีใต้จำนวนมาก รวมถึงกลุ่มสหภาพแรงงาน ออกมาประท้วงขับไล่ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เช่น กรุงโซล จังหวัดชุงชองใต้ จังหวัดช็อลลาเหนือ นครปูซานและนครควังจู ขณะที่ พล.อ.พัค อันซู และนายคิม ซอนโฮ รมช.กลาโหม เข้าชี้แจงต่อรัฐสภาถึงกรณีดังกล่าว หลังจากกลุ่มพรรคฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค นำโดยพรรคประชาธิปไตย ยื่นเสนอถอดถอนนายยุน ซอกยอล ให้พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อบ่ายวันที่ 4 ธ.ค.
...
นายคิม ซอนโฮ กล่าวขอโทษประชาชนในรัฐสภาว่ารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและอ้างว่านายคิม ยงฮยอน เป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารเข้าปิดล้อม ขัดขวางไม่ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าในอาคารรัฐสภา ตนไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎอัยการศึกและทราบเรื่องตอนที่มีรายงานข่าวออกมา ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนเขียนร่างแถลงการณ์ประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ยืนยันว่าไม่ได้มาจากกระทรวงกลาโหม
ขณะที่ พล.อ.พัค อันซู ชี้แจงว่า ไม่ใช่ผู้เขียนร่างแถลงการณ์ประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ยอมรับว่าได้รับร่างเอกสารดังกล่าวมาตรวจสอบความถูกต้อง แม้ตัวเองจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพ แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้กฎอัยการศึก ทั้งนี้ ทราบถึงการประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวของประธานาธิบดีจากแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ ขณะนั้นไม่ทราบว่ามีการระดมกำลังทหารไปที่อาคารรัฐสภา ส่วนนายยุน ซอกยอลเดินทางมายังห้องบัญชาการกฎอัยการศึกที่อาคารคณะเสนาธิการร่วม เมื่อประมาณ 01.00 น. วันที่ 4 ธ.ค. แต่จำไม่ได้ว่าประธานาธิบดีคุยกับอดีตรมว.กลาโหมว่าอย่างไร ทั้งนี้ พล.อ.พัค อันซู เพิ่งยื่นขอลาออกจากตำแหน่งต่อนายคิม ยงฮยอน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.
วันเดียวกัน นายโช ซึงแร โฆษกพรรคประชา ธิปไตย พรรคผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภาระบุว่า จะจัดให้มีการลงมติถอดถอนประธานาธิบดีในเวลา 19.00 น. วันที่ 7 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อให้เวลาในการตัดสินใจแก่สมาชิกรัฐสภาของพรรคพลังประชาชน พรรครัฐบาลที่มีเสียงในสภาทั้งหมด 108 เสียง จากทั้งหมด 300 เสียง ว่าจะเอาอย่างไรกับการกระทำของนายยุน ซอกยอล ด้านนายฮัน ดงฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ให้คำมั่นว่าจะพยายามไม่ให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีจนสำเร็จ แม้ก่อนหน้านี้จะเคยแสดงความคิดเห็นว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกของนายยุน ซอกยอล เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในการลงมติถอดถอนประธานาธิบดี ต้องใช้เสียงจากสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 หรือ 200 เสียงต่อ 300 เสียง ปัจจุบันฝ่ายค้านครองอยู่ที่ 192 เสียง ต้องการอีก 8 เสียงจากพรรครัฐบาลเพื่อให้การลงมติถอดถอนสำเร็จ ทำให้พรรคพลังประชาชน ต้องพยายามอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดเสียงแตก วันที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก นายอี แจมยอง ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาเร่งเดินทางมาลงมติคัดค้านการใช้กฎอัยการศึก จนได้ผลสรุปมติเอกฉันท์ 190 เสียงต่อเสียงคัดค้าน 0 เสียง ในจำนวนนี้มี 18 เสียงมาจากพรรคพลังประชาชน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่