ทำเอาทั้งโลกแตกตื่นและสับสนไปตามๆ กัน หลังเมื่อค่ำคืนวันที่ 3 ธ.ค. 67 ที่ผ่านมา “ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกมาประกาศกฎอัยการศึก (Martial Law) โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามเกาหลีเหนือ พร้อมกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านว่าเข้าข้างเกาหลีเหนือและเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ
ก่อนที่จะพบกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารติดอาวุธ ออกมาประจำการตรึงกำลังในพื้นที่สำคัญหลายจุดในกรุงโซล เมืองหลวงเกาหลีใต้ มีเฮลิคอปเตอร์บินเหนือท้องฟ้า
อย่างไรก็ดี กฎอัยการศึกครั้งนี้มีอายุอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะหลังจากที่ ปธน.ยุนประกาศใช้ ส.ส.และประชาชนได้ออกมารวมตัวต่อต้านที่รัฐสภา ก่อนที่ ส.ส.จะร่วมกันโหวตยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยมติเอกฉันท์ 190:0 ทำให้ ปธน.ยุน ต้องออกมาประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึกในเวลาต่อมา
เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างในค่ำคืนที่แสนวุ่นวายของเกาหลีใต้ อะไรที่อาจเป็นเหตุผลที่แท้จริงในการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงให้อ่านกัน
สรุปไทม์ไลน์ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก
เวลาประมาณ 22.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น “ยุน ซอกยอล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกมาประกาศกฎอัยการศึก (Martial Law) โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเกาหลีใต้ จากภัยคุกคามที่เกิดจากกองกําลังเกาหลีเหนือ พร้อมกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านหลักว่าเข้าข้างเกาหลีเหนือและมีความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ จากการที่ฝ่ายค้านซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภา มีความพยายามถอดถอนอัยการระดับสูง และโหวตตัดงบประมาณของรัฐบาล
"ข้าพเจ้าขอประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปกป้องสาธารณรัฐเกาหลีที่เสรี จากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ เพื่อขจัดกลุ่มต่อต้านรัฐผู้สนับสนุนเกาหลีเหนือที่ขโมยเสรีภาพและความสุขของประชาชน และเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญที่เสรี" ปธน.ยุน กล่าวในช่วงหนึ่งของการประกาศกฎอัยการศึก
...
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้เผยแพร่สาระสำคัญของกฎอัยการศึกเป็นภาษาไทย โดยมี 7 ข้อบังคับสำคัญ คือ
- ห้ามกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท รวมถึงกิจกรรมของรัฐสภา สภาท้องถิ่น พรรคการเมือง สมาคมการเมือง การชุมนุม และการเดินขบวน เป็นสิ่งต้องห้าม
- ห้ามกระทำการใด ๆ ที่ปฏิเสธหรือพยายามโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม และห้ามเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน และการโฆษณาชวนเชื่ออันเป็นเท็จ
- สื่อและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎอัยการศึก
- ห้ามการนัดหยุดงาน การก่อวินาศกรรม และการชุมนุมที่ส่งเสริมความวุ่นวายทางสังคม
- บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน รวมถึงประชาชนที่นัดหยุดงานหรือออกจากวงการการแพทย์แล้ว จะต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใน ๔๘ ชั่วโมง และทำงานด้วยความซื่อสัตย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎอัยการศึก
- สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มบ่อนทำลายรัฐ จะมีมาตรการเพื่อบรรเทาความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด
ซึ่งหลังจาก ปธน.ยุนประกาศกฎอัยการศึก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างออกมาไม่เห็นด้วย โดยนายฮัน ดง-ฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) พรรครัฐบาล ซึ่งเป็นพรรคต้นสังกัดของ ปธน.ยุน ก็ออกแถลงการณ์ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ไม่ถูกต้อง และเขากับพรรคจะร่วมกันขัดขวางเรื่องนี้
ขณะที่นายอี แจ-มยอง ผู้นำพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านออกมาประณามการกระทำของ ปธน.ยุน เรียกร้องให้ ส.ส.ออกมาโหวตคว่ำกฎอัยการศึกครั้งนี้ และเชิญชวนให้ประชาชนมารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา
ต่อมา ส.ส.และประชาชนจำนวนมากได้มารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังอยู่ มวลชนได้ตะโกนคำว่า “ไม่เอากฎอัยการศึก” และ “ล้มล้างเผด็จการ” ขณะที่ ส.ส.พยายามฝ่าวงล้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปด้านในเพื่อโหวตยกเลิกกฎอัยการศึก จนในเวลาประมาณ 01.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ส.ส.จำนวน 190 คน จากทั้งหมด 300 คน เข้าไปในรัฐสภาได้สำเร็จ และโหวตยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยมติเอกฉันท์ 190:0 เสียง
...
“แม้ประเทศนี้กำลังก้าวถอยหลัง การประกาศกฎอัยการศึกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายครั้งนี้จะไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น แต่จะเป็นโอกาสในการทำลายวงจรอุบาทว์และทำให้สังคมกลับคืนสู่ความปกติ” นายอี แจ-มยอง ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวหลังรัฐสภาโหวตคว่ำกฎอัยการศึก
อย่างไรก็ดี ทางกองทัพเกาหลี ระบุว่า กฎอัยการศึกจะยังมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่า ปธน.ยุน จะสั่งยกเลิก ทำให้ประชาชนยังคงรวมตัวประท้วง และ ส.ส. ยังปักหลักอยู่ด้านในรัฐสภา
กระทั่งเวลาประมาณ 04.20 น.ตามเวลาท้องถิ่น ปธน.ยุน ได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า ยอมรับมติของรัฐสภาและได้ให้ทหารถอนกำลังแล้ว ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของประชาชนที่มารวมตัวประท้วง อย่างไรก็ดี ปธน.ยุน ได้ขอให้สภาหยุดการกระทำที่ขัดขวางการทำงานของรัฐ
...
“ผมยอมรับเสียงของรัฐสภาและยกเลิกกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามผมร้องขอให้รัฐสภาหยุดการกระทำที่ไม่ยั้งคิด ที่ทำให้การทำงานของรัฐต้องหยุดชะงัก เช่น การยื่นถอดถอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า การบิดเบือนกฎหมายและงบประมาณ” ปธน.ยุน กล่าวในช่วงหนึ่งของการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก
ในช่วงเช้าวันนี้ (4 ธ.ค.67) ยังคงมีประชาชนบางส่วนไปรวมตัวประท้วงท่ามกลางอากาศหนาว -1 องศา เรียกร้องให้ ปธน.ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบ ขณะที่ทางฝ่ายค้านก็ได้เรียกร้องให้ลาออกเช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะต้องเจอกับการยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง ขณะที่ ปธน.ยุน ได้ยกเลิกภารกิจทั้งหมดในเช้าวันนี้
วิเคราะห์เหตุผล ปธน.ยุน ประกาศกฎอัยการศึก?
การประกาศกฎอัยการศึกครั้งก่อนหน้าของเกาหลีใต้ คือในช่วงปี 1979 หรือ 45 ปีก่อน ในสมัยรัฐบาลเผด็จการ “ชุน ดูฮวาน” ซึ่งมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด มีการล้อมปราบผู้เห็นต่างมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก เช่น การล้อมปราบที่กวางจู วันที่ 18-27 พ.ค. 1980 มีผู้เสียชีวิตกว่า 165 คน สูญหาย 76 คน และบาดเจ็บมากกว่า 3,500 คน นับเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย และเกาหลีใต้ ไม่เคยใช้กฎอัยการศึกอีกเลย นับตั้งแต่เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในปี 1987
...
ตัดภาพมาที่สถานการณ์การเมืองล่าสุดของเกาหลีใต้ “ยุน ซอกยอล” จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2022 เหนือคู่แข่งอย่าง “อี แจ-มยอง” พรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ด้วยคะแนนแค่ 0.7% นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเลือกตั้งโดยตรงในปี 1987
อย่างไรก็ดี ปธน.ยุน คะแนนความนิยมตกต่ำอย่างต่อเนื่องจากผลงานการบริหารประเทศ และเผชิญกับข่าวฉาวและข้อกล่าวหาคอร์รัปชันจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง “ดราม่ากระเป๋าดิออร์” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนางคิม กอนฮี สตรีหมายเลข 1 ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น และรับกระเป๋าแบรนด์เนมที่มีมูลค่าสูงเกินกว่ากฎหมายรับสินบนกำหนด ซึ่งกรณีนี้ทำให้ ปธน.ยุน ต้องออกมาแถลงขอโทษผ่านโทรทัศน์ในเดือน พ.ค.
นอกจากนี้ในการเลือกตั้งรัฐสภาในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า พรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ชนะแบบแลนด์สไลด์ที่ 170 จาก 300 ที่นั่ง และได้รวมเสียงพรรคอื่นๆ เป็นฝ่ายค้านที่ 192 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชาชน (People Power Party) ต้นสังกัดของ ปธน.ยุน เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ 108 ที่นั่งเท่านั้น
ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ปธน.ยุน และรัฐบาล ผ่านกฎหมายและเดินหน้าทำนโยบายได้อย่างยากลำบาก เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาเพิ่งมีมติตัดงบในร่างงบประมาณแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็เดินหน้ายื่นถอดถอนรัฐมนตรี และอัยการสูงสุดหลายคน
รศ.ลีฟ-เอริค อีสลีย์ จากมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกของ ปธน.ยุน เป็นการใช้กฎหมายเกินขอบเขต เป็นการคำนวณทางการเมืองที่ผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจและความปลอดภัยของประเทศเกาหลีใต้ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
“เขาเป็นเหมือนนักการเมืองที่ถูกบีบคั้น และทำการเคลื่อนไหวอย่างเข้าตาจนเพื่อตอบโต้กับประเด็นอื้อฉาวที่รุมเร้า การถูกขัดขวางการทำงาน และข้อเรียกร้องถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น” รศ.ลีฟ-เอริค อีสลีย์ กล่าว