กัมพูชาเตรียมออกกฎหมายใหม่ตามข้อเสนอแนะของ "ฮุน เซน" ที่จะระบุให้กลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายค้านหัวรุนแรงที่อยู่ต่างแดน ถูกจัดอยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้าย หลังจากมีการเคลื่อนไหวปลุกปั่นประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการฟ้องศาลโลกเอาเกาะกูดคืนมาจากไทย
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นายโสก อายสาน โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ ซีพีพี เปิดเผยว่า กฎหมายใหม่ที่ระบุให้กลุ่มนักกิจกรรมฝ่ายค้านเป็น "ผู้ก่อการร้าย" จะผ่านการอนุมัติในไม่ช้า เนื่องจากคำกล่าวของผู้นำพรรคอย่างนายฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี มักจะนำไปสู่การกระทำ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอดีตนายกรัฐมตรี ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและประธานพรรคซีพีพี ตั้งคำถามต่อสาธารณะว่า ถึงเวลาหรือยังที่ต้องตราพระราชบัญญัติจำแนกกลุ่มฝ่ายค้านหรือกลุ่มหัวรุนแรงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
ความคิดเห็นของฮุน เซน มีขึ้นท่ามกลางกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มฝ่ายค้านในต่างประเทศ อาทิ การเคลื่อนไหวปลุกปั่นประชาชนออกมาเรียกร้องเอาเกาะกูดคืนจากไทย และให้รัฐบาลนำประเด็นเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะกูดไปฟ้องศาลโลก โดยนายฮุน เซน กล่าวถึงกิจกรรมของกลุ่มฝ่ายค้านในต่างประเทศที่กล่าวถึงประเด็นอ่อนไหว เช่น อธิปไตยของเกาะกูด ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับไทย และยังมีการกล่าวหาว่ากลุ่มเหล่านี้วางแผนจัดประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เพื่อโค่นล้มรัฐบาลกัมพูชา
ทางด้านประธานวุฒิสภากัมพูชา และนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองฝ่ายค้านในต่างประเทศ ที่พยายามเปลี่ยนปัญหาเกาะกูดให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกัมพูชาและไทยโดยการยุยงให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล แม้ว่าทั้งสองรัฐบาลจะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยสันติก็ตาม
ขณะที่สื่อกัมพูชารายงานว่า ประเด็นเกาะกูดซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทย กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการเมืองไทย ทำให้เกิดการถกเถียงกันถึงการที่กัมพูชาสูญเสียเกาะแห่งนี้ไป ขณะเดียวกันกลุ่มฝ่ายค้านในกัมพูชาได้ออกมากล่าวหารัฐบาลกัมพูชาผ่านช่องทางออนไลน์ว่าได้ยกเกาะกูดให้กับไทย
...
รายงานของสื่อกัมพูชาระบุว่า รัฐบาลของทั้งสองประเทศกำลังเจรจากันอย่างสันติเกี่ยวกับปัญหาเกาะกูด แต่ในประเทศไทย กลุ่มหัวรุนแรงเรียกร้องให้รัฐบาลอ้างสิทธิ์เกาะกูดจากกัมพูชา ขณะเดียวกัน กลุ่มฝ่ายค้านหัวรุนแรงของกัมพูชาในต่างประเทศเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฟ้องศาลระหว่างประเทศเพื่อเรียกร้องเกาะกูดคืน
ในระหว่างการกล่าวเปิดการประชุมพระสงฆ์เมื่อวานนี้ ประธานวุฒิสภา ฮุน เซน กล่าวว่า ปัญหาเกาะกูดเป็นประเด็นถกเถียงบนชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทย โดยเน้นย้ำว่าทั้งสองรัฐบาลยังคงอยู่ในการเจรจาเกี่ยวกับปัญหาเกาะกูดอยู่
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาพยายามลดแรงกดดัน จากฝ่ายค้านในต่างแดนด้วยการถอนตัวจากกรอบความร่วมมือพัฒนาสามฝ่ายระหว่างกัมพูชา ลาว และเวียดนาม หรือกลุ่ม CLV-DTA เพื่อเป็นการตัดโอกาสที่ฝ่ายค้านจะใช้กรอบความร่วมมือนี้เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมา ฝ่ายค้านมีการใช้ประเด็นความร่วมมือนี้เพื่อกล่าวหาว่า รัฐบาลยอมเสียผลประโยชน์ให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ข้อกล่าวหาว่าการพัฒนาภายใต้ CLV-DTA ทำให้กัมพูชาอาจเสียเปรียบด้านอธิปไตยหรือทรัพยากร
ทางด้านนายอัม แซม อัธ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการขององค์กรสิทธิมนุษยชน LICADHO กล่าวว่ากัมพูชามีกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายอยู่แล้ว แต่ควรเน้นย้ำความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยระบุว่า ก่อนที่จะผ่านร่างกฎหมายใหม่ใดๆ จะต้องมีการศึกษาและทบทวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อแก้ไขช่องว่างและคำวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจเกิดขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด กฎหมายใหม่จะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและคำนึงถึงมาตรฐานสากลที่กัมพูชาให้การยอมรับ.
ที่มา : Phnom penh Post , Khmer Times