นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้แบนการต้มปูทั้งเป็น หลังจากศึกษาวิจัยพบว่าสัตว์มีเปลือกแข็งทั้ง ปู และกุ้งสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ
นับเป็นงานวิจัยที่ยืนยันในเรื่องนี้อีกครั้ง หลังจากมีความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ว่า การต้มปูทั้งเป็นจะไม่ทำให้ปูหรือสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งรู้สึกเจ็บปวด แต่จากการศึกษาใหม่ ของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กในสวีเดน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biologyได้พิสูจน์ยืนยันอีกเสียงว่า ปูรู้สึกถึงความเจ็บปวดได้จริง ๆ ซึ่งหมายความว่าการต้มปูทั้งเป็นอาจทำให้มันต้องตายอย่างทรมานและเจ็บปวด หลังจากที่เมื่อหลายปีก่อน มีการเผยแพร่ผลงานการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจาก London School of Economics ที่ชี้ว่าสัตว์ประเภท ปู กุ้ง มีความรู้สึกเจ็บปวด จนทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักร ต้องพิจารณาทบทวนกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่
โดยนักวิจัยใช้เทคนิคการสแกนสมองเพื่อดูการตอบสนองของระบบประสาทของปูเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยใช้ปูชายหาดที่มีอาการเป็นอัมพาตบางส่วนและติดอิเล็กโทรดที่เส้นประสาทในระบบประสาทส่วนกลางของปู จากนั้นพวกเขาได้กระตุ้นปูด้วยสารเคมีหรือการกระตุ้นทางกายภาพ เช่น กรดอะซิติก จนพบว่า เมื่อปูได้รับความเจ็บปวดจากการกระตุ้นดังกล่าว ระบบประสาทของมันตอบสนองโดยการส่งสัญญาณไปยังสมอง นักวิจัยยังพบว่า การกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด เช่น การทำร้ายกรงเล็บหรือขาของปู จะทำให้เกิดการตอบสนองทางไฟฟ้าในระบบประสาท ซึ่งบ่งชี้ว่า ปูรู้สึกถึงความเจ็บปวดในลักษณะเดียวกับมนุษย์
...
เอเลฟเทริออส คาซิโอรัส นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า การศึกษานี้เป็นการศึกษาครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าระบบประสาทของปูสามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้จริง ๆ ซึ่งต่างจากการศึกษาก่อนหน้านี้ที่เน้นการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ เช่น การสัมผัสหรือหลีกเลี่ยงอันตราย นักวิจัยระบุว่า ระบบประสาทของปูตอบสนองต่อความเจ็บปวดในลักษณะเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ที่มีระบบประสาทคล้ายกัน
จากการค้นพบนี้ นักวิจัยเรียกร้องให้มีการห้ามการต้มปูทั้งเป็นและแนะนำให้ใช้เทคนิคที่ไม่ทำให้สัตว์รู้สึกเจ็บปวด เช่น การกระตุ้นไฟฟ้า หรือการช็อตไฟฟ้าให้หมดสติ ทันทีที่สัตว์ถูกจับมา นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเห็นว่า ควรมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ครัสเตเชียน หรือสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว เช่น ปู กุ้ง และล็อบสเตอร์ ให้เท่าเทียมกับสัตว์ชนิดอื่นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
ในปัจจุบันหลายๆ ประเทศ เช่น ในสหภาพยุโรป สัตว์ครัสเตเชียนเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้สามารถต้มปูทั้งเป็นหรือทำร้ายมันในลักษณะอื่นได้ ซึ่งแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เราบริโภค ซึ่งนักวิจัยระบุว่า ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตอบสนองของสัตว์ครัสเตเชียนต่อความเจ็บปวด และหวังว่าในอนาคตจะมีการออกแนวทางและกฎหมายที่ชัดเจนในการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์เหล่านี้ เพื่อให้การฆ่าสัตว์ครัสเตเชียน เพื่อการบริโภคเป็นไปอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น.
ที่มา : เดลีเมล์
คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ ปู