การประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 จบลงแล้วเมื่อช่วงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24 พ.ย.) โดยมีการบรรลุข้อตกลงการเงินเพื่อสภาพอากาศ มอบความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาจนถึงปี 2578
อย่างไรก็ตาม ชาติกำลังพัฒนาจำนวนมาต่างไม่พอใจ เนื่องจากจำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี เป็นจำนวนที่น้อยกว่าเม็ดเงินที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้จริงๆ มากกว่า 3 เท่า
ส่วนประเทศผู้ร่ำรวยก็แสดงความประหลาดใจที่ชาติกำลังพัฒนาไม่พอใจข้อตกลงนี้ ซึ่งภายนอกดูจะเป็นเงินจำนวนมหาศาล และเพิ่มขึ้นจากเดิมที่พวกเขามอบให้อยู่ที่ปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงล่าสุดนี้ มีปัญหาหลายอย่างที่ชาติกำลังพัฒนาต้องกังวลจริงๆ
เงินก้อนโต แต่ไม่เพียงพอ
ข้อตกลงการเงินล่าสุดในการประชุม COP29 ถูกครหาทั้งเรื่องจำนวนเงินที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาติกำลังพัฒนา ซึ่งประเมินกันว่า พวกเขาต้องใช้เงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อบรรเทาผลกระทบและปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ร่ำรวยกว่า
นอกจากนั้น ข้อตกลงนี้ยังผสมระหว่างเงินให้เปล่ากับการปล่อยกู้ ขณะที่บางประเทศก็ไม่พอใจที่ชาติผู้มั่งคั่งรอจนกระทั่งนาทีสุดท้าย ก่อนจะเผยข้อตกลงออกมา
“นี่เป็นจำนวนเงินที่น่าดูถูก” แชนด์นี ไรนา ผู้แทนจากประเทศอินเดีย บอกกับผู้แทนคนอื่นๆ หลังที่ประชุมเคาะบรรลุข้อตกลง “เอกสารนี้แทบไม่ต่างจากภาพลวงตา ในความคิดของเรา สิ่งนี้จะไม่แก้ไขความท้าทายมหาศาลที่พวกเราทั้งหมดต้องเผชิญ”
แต่ในท้ายที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาก็ถูกบีบให้ยอมรับข้อตกลง หลังชาติร่ำรวยมากมายพยายามชี้ว่า พวกเขาจะไม่ได้รับข้อตกลงที่ดีกว่านี้แล้ว หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อน ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2568
...
แต่ข้อตกลงนี้ก็ทำให้ประเทศร่ำรวยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าวิสัยทัศน์คับแคบ เพราะหากพวกเขาต้องการช่วยโลกจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ประเทศที่มั่งคั่งกว่าจำเป็นต้องช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพวกเขา เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กว่า 75% ของการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้
นานาประเทศจะเปิดเผยแผนการแห่งชาติในปีหน้า ว่าพวกเขาจะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองอย่างไรในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งยิ่งที่ประชุม COP ให้เงินช่วยเหลือพวกเขามากเท่าไร ประเทศกำลังพัฒนาก็จะยิ่งมีทางเลือกในลงมือปฏิบัติมากขึ้นเท่านั้น
COP กำลังแขวนบนเส้นด้าย
การนำพากว่า 200 ประเทศให้ร่วมทำข้อตกลงที่ซับซ้อนอย่างการเงินเพื่อสภาพอากาศนั้น เป็นงานที่ยากเสมอ แต่ประเทศเจ้าภาพอย่างอาเซอร์ไบจาน ซึ่งไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับกระบวนการของ COP มาก่อน แสดงให้เห็นเหตุแล้วว่า เรื่องนี้ เกือบจะเกินมือของพวกเขา
ประธานาธิบดี อิลฮาม อาลิเยฟ ทำให้สถานการณ์แย่ลงด้วยการบอกว่า น้ำมันกับก๊าซธรรมชาติคือของขวัญจากพระเจ้า และกล่าวโจมตีตรงๆ ว่า สื่อข่าวปลอม, องค์กรการกุศล และนักการเมืองตะวันตกกำลังเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
ที่ประชุม COP ได้ประเทศที่มีรัฐบาลรวมอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเจ้าภาพถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), อียิปต์ และล่าสุดคืออาเซอร์ไบจาน ทำให้เกิดความกังวลในวิธีเลือกประเทศเจ้าภาพของ COP
โดยอาเซอร์ไบจานก็เหมือนกับยูเออี เศรษฐกิจของพวกเขาสร้างบนธุรกิจส่งออกน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสวนทางกับการช่วยโลกเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด
นักเจรจาอาวุโสบางคนถึงกับบอกว่า นี่เป็นการประชุม COP ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี และพวกเขาเขียนจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณะ ระบุว่า COP ไม่ดีพอที่จะบรรลุเป้าหมาย และเรียกร้องให้มีการปฏิรูป หลังจากการประชุมนาน 2 สัปดาห์นี้ ผ่านไปครึ่งทางเท่านั้นเอง
การก้าวขึ้นมาอย่างเงียบๆ ของจีน
การมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้บทบาทของสหรัฐฯ ในการเจรจาเรื่องสภาพอากาศในอนาคตตกสู่ความไม่แน่นอน และ จีน คือประเทศที่ถูกมองว่าจะกลายมาเป็นผู้นำคนใหม่ แทนการหายไปของสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า
จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยพวกเขาปิดปากเงียบตลอดการประชุม COP29 และเผยไพ่ในมือเพียงตอนที่พวกเขาให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินช่วยเหลือด้านสภาพอากาศที่พวกเขาจะมอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา
ในความเป็นจริงแล้ว สหประชาชาติยังจัดให้จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ หมายความว่า พวกเขาไม่มีข้อผูกมัดอย่างเป็นทางการใดให้ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือให้เงินช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่า
แต่จีนเห็นชอบสูตรในข้อตกลงการเงินดังกล่าว ซึ่งอนุญาตให้เงินของพวกเขาถูกนำรวมเข้าไปในกองทุนช่วยเหลือประเทศเสี่ยงอันตรายต่อปัญหาสภาพอากาศ ในฐานะอาสาสมัคร ทำให้แดนมังกรได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก
“จีนกำลังมีความโปร่งใสเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศซีกโลกใต้มากขึ้น” นายหลี่ ซั่ว จากสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย กล่าว “เรื่องนี้น่าจะช่วยผลักดันให้จีนได้รับทบาทที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต”
...
ผลกระทบจากโดนัลด์ ทรัมป์
ถึงแม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ จะไม่ได้มาร่วมการประชุม แต่ผลกระทบของเขากลับปรากฏให้เห็นมากมายในการประชุม COP29
สิ่งหนึ่งที่ผู้แทนเจรจาในกรุงบากู ของอาเซอร์ไบจาน เห็นตรงกันคือ ความจำเป็นที่ต้องทำให้แน่ใจว่า การเป็นผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของนายทรัมป์ จะไม่ย้อนคืนความพยายามเจรจาอย่างระมัดระวังเรื่องปัญหาสภาพอากาศตลอดหลายปีที่ผ่านมา
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศผู้ร่ำรวยกว่าจะต้องการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ชาติกำลังพัฒนาไปจนถึงปี 2578 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น นายทรัมป์ก็จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว และสหรัฐฯ ก็อาจสามารถกลับมาเข้าร่วมกับพวกเขาได้อีกครั้ง
การเพิ่มจำนวนเงินช่วยเหลือก็เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงการมาของนายทรัมป์เช่นกัน ซึ่งการพาจีนเข้าร่วมโต๊ะเจรจา แม้ว่าจะในฐานะอาสาสมัครเท่านั้น ก็เป็นการแสดงให้เห็นคุณค่าของการประชุมนานาชาติอย่าง COP แล้ว
ศาสตราจารย์ ไมเคิล เจคอบส์ จากคณะวิจัย “ODI Global” กล่าวว่า “ไม่มีใครคิดว่าการกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งของนายทรัมป์ จะมีส่วนช่วยอะไรต่อการเจรจาด้านสภาพอากาศ นอกจากช่วยทำให้เสียหาย แต่ข้อตกลงนี้คือความพยายามจำกัดความเสียหายนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
...
นักเคลื่อนไหวมีปากมีเสียงมากขึ้น
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเทรนด์ชัดเจนในการประชุม COP29 คือกลุ่มนักเคลื่อนไหวและองค์กรไม่แสวงกำไรมากมาย เป็นฝ่ายที่แสดงจุดยืนแข็งกร้าวกว่า นายจอห์น โปเดสตา ผู้แทนของสหรัฐฯ ซึ่งถูกขับออกจากการประชุม ต้องเผชิญเสียงประณามดังกึกก้องว่า “น่าอับอาย” จากบรรดานักเคลื่อนไหว
นอกจากนั้น ชาติกำลังพัฒนาหลายประเทศก็ต้องพึ่งพาองค์กรเหล่านี้ เพื่อจัดการกับงานที่ซับซ้อนอย่าง COP และระหว่างเจรจา มีแรงผลักดันอย่างรุนแรงจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว ให้ชาติกำลังพัฒนาปฏิเสธข้อตกลงใดๆ แม้แต่ข้อตกลงสุดท้ายที่นานาชาติยอมรับ พวกเขาก็แสดงความผิดหวังที่จำนวนเงินช่วยเหลือต่ำกว่าปริมาณที่ต้องการมาก
การเผชิญหน้ากับนักเคลื่อนไหวแบบนี้ จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการประชุมสภาพอากาศหรือไม่ ต้องติดตามดูในการประชุม COP ปีหน้า
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc