กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงความมั่นคงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้สัญญาณไฟเขียวแก่กองทัพยูเครนในการใช้จรวดพิสัยไกลของชาติตะวันตก โจมตีเป้าหมายในดินแดนดั้งเดิมของรัสเซีย หรืออาณาเขตพรมแดนก่อนสถานการณ์ความขัดแย้งจะลุกลาม
ส่งผลให้เขตบรียานสก์กับคูร์สก์ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนยูเครนไปกว่า 120 กิโลเมตร ถูกโจมตีด้วยอาวุธลูกยาวในวันที่ 19 พ.ย. ประกอบด้วยจรวด ATACMS ของสหรัฐฯ และจรวดสตอร์ม ชาโดว์ ของอังกฤษ ที่ไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าใช้ไปจำนวนเท่าไร ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงรัสเซียยอมรับว่า เป็นการยิงใส่แดนของรัสเซียเป็นระยะๆ และระบบต่อต้านอากาศยานได้ยิงสกัดกั้นอย่างต่อเนื่อง
โดยกรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามดำเนินมากว่า 2 ปี ที่อาวุธลูกยาวของชาติตะวันตกถูกนำมาใช้ต่อเป้าหมายที่อยู่นอกดินแดนยูเครน และถือเป็นการขยายวงความขัดแย้งให้กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบมากขึ้นไปทุกขณะ เพราะเดิมทีสงครามยูเครน-รัสเซียที่ผ่านมา ยังถือเป็นการรบที่ไม่ครอบคลุม มุ่งเน้นเฉพาะการ “ถล่มแต่สิ่งที่เหมาะสม” เพื่อสร้างความได้เปรียบในแนวรบ หรือ “กดดัน” ให้เกิดการเจรจา
จะเรียกว่ารอมชอมก็คงไม่ผิดนัก ในเมื่อภาพสถานการณ์ได้ปรากฏชัดเจนไปแล้วว่า ศึกครั้งนี้คือการต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯและพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งทั้งสองขั้วอำนาจได้มีความพยายามตลอดมาที่จะไม่ล้ำเส้นกันเกินไป
กล่าวคือฆ่ากันให้ตายในสนามรบโอเค แต่ถ้าจะไปถล่ม “หลังบ้าน” ของอีกฝ่าย จำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมาชาติตะวันตกซึ่งทราบกันดีว่าทำหน้าที่ “ชี้เป้าหมาย” ให้กองทัพยูเครนใช้อาวุธลูกยาวยิงถล่ม จะระแวดระวังไม่ไปแหย่รังแตนให้รัสเซียฉุนขาด เช่นเดียวกับทางรัสเซียเองที่ทราบมาตลอดว่า จุดพักอาวุธของชาติตะวันตกอยู่ในดินแดนของประเทศใดบ้างแต่ก็ไม่ไปแตะต้อง ปล่อยให้ยูเครนได้รับยุทโธปกรณ์เรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างพยายามจำกัดกรอบของเกมงัดอำนาจ ไม่ให้กลายเป็นสงครามใหญ่เฉกเช่นในอดีต
...
อย่างไรก็ตาม การเปิดทางให้กองทัพยูเครนใช้จรวดโจมตีดินแดนดั้งเดิมของรัสเซีย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือด้วยสถานการณ์การสู้รบกำลังอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง ก็ถือเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลชาติตะวันตกได้ตัดสินใจที่จะเป็นฝ่ายลองดี ขยายแนวทางการทำศึก เนื่องด้วยที่ผ่านมา การสงวนท่าทีของรัฐบาลรัสเซียได้ทำให้เชื่อว่าทุกอย่างจะจบลงแบบไม่มีอะไรในกอไผ่ ยอมเลิกแล้วต่อกันหยวนๆกันไป
จึงเป็นที่มาของการประเดิมอาวุธใหม่ในสนามรบ นั่นคือขีปนาวุธพิสัยกลางความเร็วเหนือเสียง (IRBM) รุ่น “โอเรชนิค” ที่กองทัพรัสเซียนำมาใช้งานเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ยิงถล่มศูนย์การผลิตยุทโธปกรณ์ของยูเครนในจังหวัดดนีโปร ทางภาคกลาง-ตะวันออกของยูเครน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อาวุธมหาประลัยที่มีขีดความสามารถติดตั้งหัวรบ “นิวเคลียร์” ได้ถูกนำมาใช้ในสงครามจริง
ทั่วโลกได้เป็นสักขีพยานความน่ากลัวของอาวุธขั้นสูง หัวรบของขีปนาวุธโอเรชนิคกระจายตัวกลางอากาศ และอัดใส่เป้าหมายเป็นระลอกๆด้วยความเร็วระดับกะพริบตา 3 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเดิมทีภาพเหล่านี้จะปรากฏแต่ในเรื่องราวสารคดียุคสงครามเย็น เป็นกราฟิกจำลองขีปนาวุธทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก่อนที่หัวรบนับสิบๆหัวจะแตกออกมา และพุ่งสู่เมืองต่างๆตามที่กำหนด
ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนจากรัฐบาลรัสเซียว่า กระทำเช่นไรก็ได้ผลตอบรับเช่นนั้น หากชาติตะวันตกพร้อมจะยกระดับความรุนแรง รัสเซียก็สามารถทำได้เช่นกัน และคราวนี้พันธมิตรนาโตจะทำเช่นไรในเมื่อรัสเซียได้ขนอาวุธที่ “ไม่มีทางสกัดกั้นได้” ออกมาใช้ทำสงคราม ขณะที่ถ้อยแถลงของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังย้ำด้วยว่า “ยังจะมีภาคต่อหลังจากนี้ ซึ่งรัสเซียจะกำหนดเป้าหมายเอง”
กระนั้น มีรายงานที่น่าสนใจจากสื่อความมั่นคงในรัสเซียด้วยเช่นกันว่า การยิงโจมตีศูนย์ผลิตอาวุธในยูเครนในวันที่ 21 พ.ย. ทางรัสเซียได้แจ้งเตือนรัฐบาลสหรัฐฯล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที ว่าจะมีการใช้ขีปนาวุธ เพื่อให้เพนตากอนรับรู้ว่า ไม่ได้จะโจมตีใส่ดินแดนสหรัฐฯหรือชาติพันธมิตรในยุโรป เพียงแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกให้ทราบว่า จะยิงใส่ที่ไหน หรือขีปนาวุธดังกล่าวติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่
ส่วนทางยุโรปไม่แน่ชัดว่าได้รับแจ้งเตือนเหมือนกับสหรัฐฯหรือเปล่า และถ้าไม่มีการแจ้งเตือนเลย ก็ย่อมถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียดอย่างมากสำหรับฝ่ายความมั่นคง เนื่องด้วยขีปนาวุธไออาร์บีเอ็มของรัสเซีย สามารถยิงถึงพันธมิตรนาโตได้ภายในเวลาอันสั้น คำนวณเฉลี่ยระยะเวลาถึงเยอรมนีภายใน 11 นาที เบลเยียม 14 นาที และยิงถึงอังกฤษภายในเวลา 19 นาที (ในกรณีที่ยิงจากพื้นที่กรุงมอสโก)
ถ้ารายงานเหล่านี้เป็นเรื่องจริง ก็ถือว่า เป็นอีกครั้งที่รัสเซียยังยั้งกระบี่ไว้ไมตรี ทางหนึ่งคุมสถานการณ์ไว้ไม่ให้เลวร้ายหรือเกิดความเข้าใจผิดจนนำไปสู่หายนะของทุกฝ่าย ส่วนอีกทางหนึ่งก็จำเป็นต้องทำให้นาโตตื่นตระหนกฉุกคิดกันบ้าง เพราะในท้ายที่สุดนั้น หนทางยุติสงครามยูเครน–รัสเซียย่อมจบที่โต๊ะเจรจา เพียงแต่สถานการณ์จะเอื้ออำนวยให้ช้าหรือเร็ว.
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม