ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธุรกิจครอบครัว” ยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก และครองอิทธิพลไปทุกภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น “วอล์มาร์ต” ของตระกูลวอลตัน, “LVMH” ของตระกูล อาร์โนลต์, “ซัมซุง” ของตระกูลลี, “ฟอร์ด” ของตระกูลฟอร์ด, “เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์” ของตระกูลบัฟเฟตต์, “ไทยเบฟเวอเรจ” ของตระกูลสิริวัฒนภักดี และ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ของตระกูลเจียรวนนท์

จากการจัดอันดับล่าสุดของนิตยสารฟอร์จูน มีบริษัทที่บริหารโดยครอบครัวถึง 35% ติดทำเนียบ 500 บริษัทใหญ่ที่สุดของโลก และยังสามารถรักษาความมั่งคั่งไว้ได้มาถึงทายาทรุ่นใหม่ โดยครองอิทธิพลครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร, ยานยนต์, พลังงาน, เทคโนโลยี, การเงินและแฟชั่น

กงสีจะอยู่รอด ต้องเขียนธรรมนูญครอบครัวให้ชัดเจน!! ธุรกิจครอบครัวที่ยังครองความเป็นใหญ่มาได้จากรุ่นสู่รุ่นมีจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ การมี “ธรรมนูญครอบครัว” เพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารและลดความขัดแย้งระหว่างญาติพี่น้อง มีการตั้ง “สภาครอบครัว” คัดเลือกสมาชิกครอบครัวอาวุโส ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาในธรรมนูญครอบครัว และดูแลสมาชิกในครอบครัว ขณะเดียวกันก็ต้องเลือกทายาทรุ่นใหม่ที่มองการณ์ไกลมาตั้งทีมเป็น “คณะกรรมการบริหารธุรกิจ” เพื่อนำพากงสีให้รอดพ้นจากการถูกดิสรัปชัน พร้อมจัดทำแผนสืบทอดธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ใช้วิธีกะๆเอาตามความพอใจ

ถามว่าทำไมธุรกิจครอบครัวมักล่มสลายในรุ่นที่ 3 และมีอัตราการอยู่รอดน้อยนิดไม่ถึง 3% เมื่อสืบทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 4 (ตามข้อมูลสถิติของ “The Family Firm Institute”) ก็เพราะไม่เคยเขียน “ธรรมนูญครอบครัว” ให้ชัดเจน ใช้วิธีแบ่งพรรคแบ่งพวก และมือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่เคยมีบทลงโทษจริงจังสำหรับสมาชิกครอบครัวที่นอกคอก

...

ทำยังไงจึงจะรอดพ้นจากคำสาปธุรกิจกงสีมักล่มสลายในยุคเจน3 โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ่านผู้นำ การเตรียมความพร้อมให้ผู้สืบทอดเข้ามาสานต่อธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของคนรุ่นก่อตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แพ้ความสามารถในการบริหารธุรกิจและปรับตัวให้สอดรับ กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นเก่า ต้องวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆไว้รองรับอนาคต โดยปรับระบบการทำงานด้วยการผสานเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในธุรกิจครอบครัว เพื่อเชื่อมกระบวนการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติที่สะดวก, รวดเร็ว และง่ายขึ้น จะได้ไร้คลื่นรบกวนเมื่อถึงเวลาส่งไม้ต่อไปยังทายาทรุ่นต่อไป

เลิกทำอะไรแบบอุ๊บอิ๊บ!! เพราะความโปร่งใสและการรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง คือรากฐานสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ควรให้สมาชิกครอบครัว รวมถึงพนักงานทุกคน ได้รับรู้สถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ฝ่าฟันวิกฤติไปด้วยกัน

บ่มเพาะทายาทธุรกิจตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานตั้งแต่เนิ่นๆ และเฟ้นหาเพชรเม็ดงามในครอบครัว เมื่อถึงเวลาส่งมอบธุรกิจจะได้รู้ว่าควรวางตัวใครในตำแหน่งไหนในอนาคตโดยดูตามความถนัดของลูกหลานแต่ละคน ไม่ใช่ฝืนดันลูกหลานคนโปรดที่ไร้ฝีมือ

การวางแผนทางกฎหมาย, ภาษี และบัญชี ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นใหม่ ก็สำคัญมาก เพื่อไม่ให้ธุรกิจครอบครัวประสบปัญหาและอุปสรรค ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การกำหนด กติกาในการคัดเลือก “ทายาทผู้สืบทอดตำแหน่ง” ให้ชัดเจน เพื่อช่วยลดความขัดแย้งในอนาคต รวมถึงการวางแผนสืบทอดตำแหน่งในเชิงรุก เตรียม “อะไหล่ทายาท” ไว้ทดแทนตลอดเวลา กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเหนือความคาดหมาย เพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักล้มครืนลง

การทำงานในหมู่เครือญาติอาจทำให้ละเลยคำชื่นชม ผู้นำยุคเก่าที่ดีต้องหมั่นชื่นชมและคอยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทายาทรุ่นใหม่ ไม่ใช่คอยกันท่าแย่งซีนลูกหลาน แผนส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นจะไม่สะดุด ถ้าคนในตระกูลมีความสัมพันธ์รักใคร่แน่นแฟ้นจริงใจ ไม่ชิงดีชิงเด่นจนเกิดศึกมรดกเลือดเหมือนหลายๆตระกูล.


มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม