- สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของพวกเขา ยิงโจมตีดินแดนของรัสเซียได้แล้ว หลังจากยูเครนเรียกร้องมานานหลายเดือน
- แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การตัดสินใจนี้มาช้าเกินไปมาก และการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่อกระแสของสงครามได้แล้ว
- ยูเครนยังมีปัญหาใหญ่อื่นๆ ที่ยากจะแก้ไข ทั้งขาดกำลังคน ขาดอาวุธ และที่สำคัญ พวกเขาอาจจะขาดแรงสนับสนุนจากพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดี
รัฐบาลสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของพวกเขา ยิงโจมตีดินแดนของรัสเซียได้แล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อช่วยยูเครนในการรับมือการโจมตีของรัสเซีย
แต่การอนุญาตนี้อาจมาสายเกินไปที่จะเปลี่ยนทิศทางของสงครามได้ จริงอยู่ว่า การใช้อาวุธตะวันตกยิงเข้าสู่ดินแดนของรัสเซียได้แล้ว ทำให้ยูเครนมีหนทางรักษาฐานที่มั่นของพวกเขาในแคว้นคูสค์ ที่อุตส่าห์บุกไปยึดมาเอาไว้ได้ แต่ขีปนาวุธพิสัยไกลไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมในภาพรวม
“การอนุญาตนี้มาช้าเกินไป เหมือนกับการตัดสินใจที่สูญเปล่าอื่นๆ มันอาจสายเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นชิ้นเป็นอันต่อกระแสการสู้รบแล้ว” ไมเคิล คอฟแมน นักวิเคราะห์จาก “มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ” (CEIP) กล่าว “การโจมตีพิสัยไกล เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนตัวต่อปริศนามาตลอด และมักถูกคาดหวังสูงเสมอในสงครามนี้”
นอกจากนั้นยังไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คำอนุญาตของสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไบเดน ที่ทุ่มเททรัพยากรของประเทศไปมากมายเพื่อช่วยยูเครน มาตลอด และประกาศกร้าวว่าจะยุติสงครามภายใน 24 ชั่วโมง จะรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 นี้แล้ว
...
รัฐบาลไบเดน ตัดสินใจช้าเกินไปเสมอ
ยูเครนพยายามล็อบบี้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้มานานหลายเดือนแล้ว อ้างว่าพวกเขาขาดความสามารถในการโจมตีดินแดนในรัสเซีย โดยเฉพาะฐานทัพอากาศ ที่มีเครื่องบินรบซึ่งคอยโจมตีพื้นที่ต่างๆ ของยูเครนประจำการอยู่ ทำให้เคียฟตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างหนัก
แต่การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจมอบอำนาจให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธ ATACMS โจมตีรัสเซียได้หลังจากผ่านไปหลายเดือน เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไบเดนพยายามรักษาสมดุลระหว่างการช่วยเหลือยูเครน กับการไม่ทำให้สถานการณ์บานปลายเกินไป
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ก็ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะอนุมัติมอบขีปนาวุธพิสัยไกล, รถถัง หรือเครื่องบินรบ F-16 ให้แก่ยูเครน
นายวิตาลี ทหารยูเครนที่ออกรบในแนวหน้า บอกกับ อัล-จาซีรา ว่า ไบเดนควรให้พวกเขาใช้อาวุธอย่างไม่มีข้อจำกัดมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว “เรากำลังขับไล่รัสเซียออกจากคาร์คิฟ และอาจนำสงครามย้อนกลับไปหาพวกเขา ไปสู่ดินแดนของพวกเขาได้” แต่เรื่องดังกล่าวไม่เกิดขึ้น
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ความล่าช้าในการตัดสินใจของสหรัฐฯ ทำให้รัสเซียมีเวลาฟื้นตัวจากความเพลี่ยงพล้ำในช่วงแรก และเสริมการป้องกันในดินแดนที่พวกเขายึดได้ และตอนนี้ รัสเซียได้ขนอาวุธมากมายออกไปไกลเกินกว่าระยะทำการของอาวุธตะวันตกที่ยูเครนมีแล้ว
“มันสายเกินไปแล้ว เพราะตอนนี้ รัสเซียแข็งแกร่งมากขึ้นแล้ว เศรษฐกิจของพวกเขากำลังไปได้ด้วยดีกับสงคราม, ผู้คนของพวกเขาถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเหมือนซอมบี้ และได้รับเงินมากมายตอบแทน เรากำลังพ่ายแพ้ทีละน้อยทุกวัน” วิตาลีกล่าว
ขีปนาวุธพิสัยไกล เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก
การสามารถใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลอย่าง “สตอร์ม ชาโดว์” และ “ATACMS” ซึ่งมีพิสัยทำการ 250-300 กม. โจมตีดินแดนรัสเซียได้ อาจส่งผลกระทบโดยตรงที่สุดต่อการต่อสู้ในแคว้นคูสค์ ซึ่งยูเครนต้องการใช้ดินแดนขนาดเล็กๆ ที่พวกเขายึดได้หลังการบุกโจมตีสายฟ้าแลบเมื่อเดือนสิงหาคม เป็นข้อต่อรองในการเจรจาใดๆ กับรัสเซียที่เกิดขึ้นในอนาคต
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารยูเครนในแคว้นคูสค์กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก เพราะรัสเซียส่งทหาร 50,000 นายเข้าไปหมายจะยึดดินแดนคืน และมีข่าวว่ามอสโกส่งทหารเกาหลีเหนืออีก 11,000 คน ที่รัฐบาลเปียงยางส่งมาช่วย ไปร่วมการต่อสู้ด้วย การมีอาวุธในมือให้ใช้เพิ่ม จึงช่วยทหารเคียฟได้มาก
แต่ขีปนาวุธพิสัยไกลไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกม นิโคไล มิโตรคิน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเบรเมน ในเยอรมนี บอกกับอัลจาซีราว่า “ATACMS ก็เหมือนกับขีปนาวุธอื่นๆ มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างมีนัยสำคัญได้ และความสามารถที่มันสร้างได้ก็มีอย่างจำกัดเสมอ โดยเฉพาะเมื่อคุณมีอาวุธชนิดนี้จำนวนน้อยเกินไป”
มิโตรคินบอกอีกว่า รัสเซียคาดการณ์มานานแล้วว่า สักวันหนึ่ง ตะวันตกก็ต้องอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีพวกเขาได้ มอสโกจึงเคลื่อนกำลังพลขนาดใหญ่, คลังอาวุธ และเครื่องบินทิ้งระเบิด ออกจากพื้นที่ที่ ATACMS สามารถโจมตีถึงไปนานแล้ว
จริงอยู่ว่า อาวุธชนิดนี้สามารถทำลายสะพาน, คลังน้ำมัน หรือสนามบินทางตะวันตกของรัสเซียได้ แต่นายมิโตรคินมองว่า มันก็เป็นเพียงการสร้างภาพที่สวยงามให้สื่อตะวันตกนำไปเผยแพร่เท่านั้น
...
ปัญหาใหญ่สุดของยูเครนอยู่ที่อื่น
ปัญหาใหญ่ที่สุดยูเครนกำลังเผชิญไม่ใช่เรื่องมิสไซล์หรือทหารเกาหลีเหนือที่ถูกส่งมาช่วยรัสเซีย นายมิโตรคินกล่าว แต่เป็นพื้นที่แนวหน้าที่กำลังยืดยาวมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนทหารของยูเครน ที่นับวันมีแต่จะลดลง จนไม่สามารถป้องกันพื้นที่ได้ทั้งหมด และไม่กำลังพลสำหรับแทนที่ทหารที่เหนื่อยล้า และขวัญกำลังใจหดหาย
“นั่นคือเหตุผลที่รัสเซียกำลังจะชนะ และตัวชี้วัดหลักก็คือ จำนวนทหารและจำนวนสมรภูมิ”
นอกจากนั้น อาวุธยูเครนก็กำลังร่อยหรอและไม่สามารถผลิตอาวุธมาทดแทนด้วยกำลังของตัวเองได้ ต้องคอยพึ่งพาการบริจาคจากชาติตะวันตกเพียงอย่างเดียว ต่างจากรัสเซียที่สามารถผลิตกระสุนมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และได้กระสุนเก่ายุคโซเวียตมาจากเกาหลีเหนืออีก 5 ล้านลูกด้วย
ยูเครนจึงต้องใช้อาวุธทุกอย่างที่หาได้ และพวกเขาชดเชยการขาดอาวุธตามยุทธวิธี ด้วยการเร่งผลิตโดรนจำนวนหลายแสนลำ มาใช้โจมตีดินแดนยูเครน ซึ่งสร้างแรงกดดันให้มอสโกได้พอสมควรในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
...
การมาของ โดนัลด์ ทรัมป์
ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์จำนวนมากจะมองว่า สถานการณ์ของยูเครนตอนนี้คือการ “รบรอวันแพ้” แต่ความพ่ายแพ้ของยูเครนอาจมาถึงเร็วขึ้นเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. 2568
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า การที่ไบเดนเร่งอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธ รวมถึงอนุมัติส่งทุนระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามที่กว่า 120 ประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญาห้ามใช้ ให้แก่ยูเครน อาจเป็นเพราะ ชัยชนะของนายทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา
นายทรัมป์กับทีมงานผู้ภักดีของเขา ต้องการทำข้อตกลงสันติภาพอย่างรวดเร็วกับรัสเซีย โดยไม่สนเรื่องการยึดคืน 4 แคว้นทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครนที่ถูกรัสเซียควบรวมไป หรืออาจทำถึงขั้นประกาศยอมรับดินแดนดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เพื่อให้กระบวนการเจรจาเดินหน้า
ไม่ว่าการทำข้อตกลงจะสำเร็จหรือไม่ อีกเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นคือ นายทรัมป์อาจยุติการสนับสนุนที่สหรัฐฯ มอบให้ยูเครน และทำให้เคียฟต้องพึ่งพาอาวุธจากชาติยุโรปเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอ
“หากสหรัฐฯ ตัดการสนับสนุน ผมคิดว่าเราคงพ่ายแพ้” โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา “แต่ไม่ว่าอย่างไร แน่นอนว่าเราจะอยู่ต่อ เราจะสู้ เรามีการผลิต (อาวุธ) ของเรา แต่มันไม่เพียงพอที่จะเอาชนะ และอาจไม่เพียงพอในการเอาชีวิตรอด”
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : france24 , aljazeera
...