• ผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) ได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล พร้อมด้วยนายโยอาฟ กัลลันต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล รวมถึงผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮามาสด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้อิสราเอลจะออกมาเปิดเผยว่า เขาเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ตาม
  • แถลงการณ์ของ ICC ระบุว่า คณะพิจารณาคดีได้ปฏิเสธคำท้าทายของอิสราเอลต่อขอบเขตอำนาจศาลและได้ตัดสินใจออกหมายจับนายเนทันยาฮูและโยอัฟ กัลลันต์ จากกรณีก่ออาชญากรรมสงครามต่อมนุษยชาติ รวมถึงการสังหาร กดขี่ รวมทั้งพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไร้ความปราณี นอกจากนี้ยังได้ออกหมายจับหัวหน้าฝ่ายทหารของฮามาส ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการสังหาร จับตัวประกันเเละความรุนเเรงทางเพศ นอกจากนี้ ICC ยังได้ออกหมายจับหัวหน้าฝ่ายทหารของฮามาส ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการสังหาร จับตัวประกันเเละความรุนเเรงทางเพศ
  • ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า  ผลกระทบของหมายจับเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับว่าประเทศสมาชิก 124 ประเทศของ ICC ซึ่งไม่รวมถึงอิสราเอลหรือพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ จะตัดสินใจบังคับใช้หมายจับเหล่านี้หรือไม่

การออกหมายนายเบนจามิน เนทันยาฮู มีขึ้นหลังจากอิสราเอลทำสงครามปิดล้อมและปราบปรามกลุ่มติดอาวุธฮามาส ในฉนวนกาซ่า เพื่อแก้แค้นที่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่เเล้ว สังหารผู้คน 1,200 ศพและจับตัวประกันไปราว 250 คน ขณะที่อิสราเอลตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหารมีผู้ถูกสังหารไปประมาณ 44,000 ศพ

ทางด้านนายเนทันยาฮูประณามการออกหมายจับครั้งนี้ ขณะที่อิสราเอลไม่ได้เป็นสมาชิก ICC พร้อมประณาม ICC ว่าเป็นการ "ต่อต้านชาวยิว" ในขณะที่กลุ่มฮามาสกล่าวว่าการออกหมายจับเนทันยาฮูและกัลแลนต์ได้สร้าง "บรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ" ขึ้นมา 

...

ขณะที่ผลกระทบของหมายจับเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับว่าประเทศสมาชิก 124 ประเทศของ ICC ซึ่งไม่รวมถึงอิสราเอลหรือพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ จะตัดสินใจบังคับใช้หมายจับเหล่านี้หรือไม่

ทางด้านทำเนียบขาวกล่าวว่าสหรัฐฯ ปฏิเสธคำตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ในยุโรปหลายแห่งกล่าวว่าพวกเขาเคารพการตัดสินของศาล

เปิดรายละเอียดข้อหา

เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา นายคาริม ข่าน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ  ได้ขอหมายจับนายเนทันยาฮู นายกัลลันต์ และผู้นำกลุ่มฮามาสอีก 2 คน ซึ่งถูกสังหารแล้ว ได้แก่ อิสมาอิล ฮานิเยห์ และยะห์ยา ซินวาร์

คดีของอัยการมีต้นตอมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มมือปืนฮามาสโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,200 ศพ และจับตัวประกันไปอีก 251 รายกลับไปยังฉนวนกาซาในฐานะตัวประกัน

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส ระบุว่า อิสราเอลตอบโต้การโจมตีครั้งนี้ด้วยการเปิดฉากทางทหารเพื่อกำจัดกลุ่มฮามาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาแล้วอย่างน้อย 44,000 ศพ  

สำหรับนายเนทันยาฮู และนายกัลลันต์ ซึ่งเพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อต้นเดือนนี้ ทางอัยการระบุว่า พบเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า ทั้งสองคนนี้มีความผิดทางอาญาสำหรับการก่ออาชญากรรมและในฐานะผู้ร่วมก่ออาชญากรรมร่วมกับผู้อื่น โดยเป็นอาชญากรรมสงครามใช้วิธีการทำสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฆาตกรรม ข่มเหง และกระทำการอันไร้มนุษยธรรม

นอกจากนี้ ยังพบเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่จะเชื่อว่า แต่ละคนมีความรับผิดชอบทางอาญาในฐานะผู้บังคับบัญชาพลเรือนสำหรับอาชญากรรมสงครามของการสั่งโจมตีประชากรพลเรือนโดยเจตนา

อัยการระบุว่า ได้ปฏิเสธข้อโต้แย้ง 2 ข้อของอิสราเอล ข้อที่หนึ่งโต้แย้งเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลของ ICC เหนือดินแดนปาเลสไตน์ และพลเมืองอิสราเอล และอีกข้อหนึ่งโต้แย้งว่าอัยการของ ICC ไม่ได้ให้โอกาสแก่อิสราเอลในการสอบสวนข้อกล่าวหาด้วยตัวเองก่อนที่จะขอหมายจับ

โดย ICC เป็นศาลฎีกาขั้นสุดท้าย และมีหน้าที่ดำเนินการโดยเฉพาะเจาะจงคดี เมื่อศาลในประเทศไม่สามารถหรือจะไม่ทำการสอบสวนหรือดำเนินคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงได้

...

124 ประเทศพร้อมบังคับใช้หมายจับ

ถึงแม้ผู้นำอิสราเอลจะไม่ยอมรับอำนาจของ ICC และแน่นอนว่าจะไม่มีวันมอบตัว แต่โลกของทั้งคู่ก็ดูเล็กลงมาก เมื่อมีประมาณ 124 ประเทศที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ครอบคลุมรัฐภาคี 124 รัฐ ใน 6 ทวีป

นายโจนาธาน คุททับ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้ธรรมนูญฉบับนี้ ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศมีพันธะทางกฎหมายในการบังคับใช้หมายจับของศาล เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้โดยยึดหลักที่ว่าประชาชนจะปฏิบัติตาม 

นอกจากนี้เขากล่าว มีสัญญาณเบื้องต้นว่าประเทศต่างๆ จะไม่เพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลไอซีซี โดยชี้ให้เห็นว่าพันธมิตรของอิสราเอลหลายราย รวมถึงสหภาพยุโรป ได้กลับลำมาให้คำมั่นที่จะบังคับใช้หมายจับ

เว็บไซต์ข่าวอัลจาซีรา รายงานว่าในบรรดา 124 ประเทศที่พร้อมจับกุมเนทันยาฮู อยู่ในแอฟริกา 33 ประเทศ เอเชียแปซิฟิก 20 ประเทศ ยุโรป 42 ประเทศ และอเมริกา 29 ประเทศ

โดยศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจดำเนินคดีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามในอาณาเขตของรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม

เนทันยาฮูจะถูกจับกุมหรือไม่

แม้จะมีหมายจับ แต่นายเนทันยาฮู และกัลแลนต์ก็ไม่ตกอยู่ในอันตรายจากการดำเนินคดีโดยตรง แม้ว่าอาจทำให้พวกเขาเดินทางไปต่างประเทศได้ยากก็ตาม เนื่องจากตามหลักเทคนิคแล้ว หากผู้ต้องหาคนใดคนหนึ่ง เหยียบย่างเข้าไปในรัฐสมาชิกของ ICC พวกเขาจะต้องถูกจับกุมและส่งตัวไปที่ศาล

การเดินทางไปต่างประเทศครั้งล่าสุดของเนทันยาฮู คือการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐฯไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เมื่อปีที่แล้ว เนทันยาฮูได้ไปเยือนประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ รวมถึงอังกฤษ

...

ทางด้านโฆษกรัฐบาลอังกฤษ กล่าวว่า เชื่อกันว่าต้องมีกระบวนการทางกฎหมายภายในอังกฤษ เพื่อพิจารณาว่าจะรับรองหมายจับ ICC หรือไม่ หากว่าเนทันยาฮูเดินทางมายังอังกฤษ

ขณะที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 2 ประเทศ ได้แก่ อิตาลีและเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะจับกุมนายเนทันยาฮู หากเขาเดินทางมาเยือน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปหลายแห่งให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามกฎของศาลอาญาระหว่างประเทศโดยไม่ได้ระบุรายละเอียด

ทางด้านนายโจเซฟ บอร์เรล ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวว่า การตัดสินใจของ ICC มีผลผูกพันต่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม สมาชิก ICC ไม่ได้เลือกที่จะบังคับใช้หมายเสมอไป อย่างกรณีของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้ถูกออกหมายจับในคดีอาชญากรรมสงครามในยูเครน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และไม่ถูกจับกุมในระหว่างการเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านในฐานะสมาชิกของ ICC ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งใน ICC ก็ไม่ได้เดำเนินการจับกุมประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ แห่งซูดาน เมื่อเขาเดินทางไปเยือนในปี 2015 แม้ว่าเขาจะถูกออกหมายจับในข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามในภูมิภาคดาร์ฟูร์ก็ตาม.