เจ้าชายไฟซัล บิน บันดาร์ บิน อับดุลอาซิซ อัล ซะอูด ผู้ว่าราชการกรุงริยาด และประธานกิตติมศักดิ์ของ Riyadh Economic Forum รวมทั้ง ฯพณฯ จาเซ็ม โมฮัมเหม็ด อัลบูไดวี เลขาธิการคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เข้าร่วมงาน Riyadh Economic Forum ครั้งที่ 11 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ฯพณฯ ดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงริยาด ในฐานะประธานหลักสูตรนักธุรกิจไทย–ตะวันออกกลางรุ่นที่ 1 ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ประธานที่ปรึกษาหลักสูตร และผู้เข้า อบรมหลักสูตรรุ่น 1 ทุกท่านเข้าร่วมงาน Riyadh Economic Forum ครั้งที่ 11 ในครั้งนี้ด้วย
Riyadh Economic Forum เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากของซาอุฯ ในฐานะที่ซาอุฯ เป็นประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก มีจีดีพีเป็นอันดับที่ 17 มากถึง 1.1 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยก็มากถึง 38 ล้านล้านบาท เมื่อ ค.ศ.2023 หรือเมื่อปีที่แล้ว ซาอุฯมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 8.7 มีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 3.8 หมื่นดอลลาร์ หรือ 1.1 ล้านบาท
ซาอุฯ เป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลใหญ่กว่าไทย 4 เท่า เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างมาก ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของซาอุฯเติบโตจากทรัพยากรธรรมชาติประเภทน้ำมัน
ผู้อ่านท่านที่เคารพคงจะทราบว่า โลกเรากำลังขยับไปสู่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ และที่สุดของที่สุดคือพลังงานไฮโดรเจน ตราบใดก็ตามที่พลังงานไฮโดรเจนเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลประเภทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ เมื่อนั้นซาอุฯ ก็คงไม่มีแต้มต่อในด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป นี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลซาอุฯปัจจุบันนำโดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัล ซะอูด นายกรัฐมนตรี พยายามแก้ไขปัญหาล่วงหน้าเมื่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่ได้เป็นอาวุธที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกต่อไป
...
ผู้นำในอดีตของซาอุฯใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องจักรหลักในการเขยิบสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีที่มีอายุเพียง 39 ชันษาในปัจจุบัน พระองค์อาจจะคิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งพระองค์จะมีอายุ 49 ชันษา หรืออีก 20 ปีข้างหน้า พระองค์มีอายุ 59 ชันษา ถึงตอนนั้น ซาอุฯ ไม่ได้มีแต้มต่อทางทรัพยากรธรรมชาติน้ำมันและก๊าซอีกต่อไปแล้ว
มองไปในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล ส่วนใหญ่แห้งแล้งมีแต่ทะเลทราย วิสัยทัศน์ของพระองค์เป็นเรื่องการทำทะเลทรายให้เขียวชอุ่ม ปลูกพืชพรรณธัญญาหาร ไม่ต้องรออาหารการกินจากประเทศอื่น นี่เป็นต้นกำเนิดของนโยบายทำให้ทะเลทรายเขียวชอุ่มด้วยต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้นในเบื้องแรก
นอกจากนั้น ยังมีการผุดเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.KAEC หรือ King Abdullah Economic City Special Economic Zone 2.RAK SEZ หรือ Ras Al-Khair Special Economic Zone 3.Jazan SEZ 4.Cloud Computing SEZ และ 5.RISLZ หรือ Riyadh Integrated Logistics Zone
เขตฯ แต่ละแห่งเสนอแรงจูงใจให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้าไปลงทุน อย่างเช่น KAEC เสนอให้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือเพียงร้อยละ 5 จากปกติร้อยละ 20 เป็นเวลา 20 ปี หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 0 สำหรับการนำกำไรจากเขตฯ ส่งไปยังต่างประเทศ ภาษีศุลกากรร้อยละ 0 สำหรับสินค้าภายในเขตฯ
ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 สำหรับสินค้าในเขตฯทั้งหมดที่แลกเปลี่ยนภายในเขตและระหว่างเขตฯไม่ต้องจ้างงานคนท้องถิ่นสำหรับ 5 ปีแรก แต่พอถึงปีที่ 6–10 ต้องจ้างงานคนท้องถิ่นร้อยละ 15 ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในซาอุฯ 400 ริยาลต่อคน ต่อเดือน
ยังมีข้อมูลอื่นอีกมากที่อาจารย์นิติภูมิธณัฐได้รับจากการเดินทางครั้งนี้ แต่นำมาลงในเปิดฟ้าส่องโลกไม่ได้ทั้งหมด เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นคอลัมน์นี้เขียนเฉพาะซาอุดีอาระเบีย คงจะค่อยๆ ทยอยนำมาแทรกในโอกาสที่เหมาะสมครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม