การกลับสู่อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองโลกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี
เพราะบรรยากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่าง เห็นได้ชัด นานาชาติต่างเริ่มเผยตัวตนออกมาว่า แท้จริงแล้วการออกตัวสนับสนุน “ยูเครน” ก็เป็นเพียงเรื่องการเมือง ตามที่มีรายงานข่าวมาเป็นระยะๆว่าหน้าฉากยืนหยัดเคียงข้าง แต่หลังฉากถือเป็นเรื่องที่ปวดเศียร เวียนเกล้ายิ่งนัก และหลายประเทศต่างก็พยายามผลักภาระ
งานนี้จะเรียนว่า ต้องขอบคุณทรัมป์ก็คงไม่ผิดนัก ที่มาเป็นใบเบิกทางให้นานาชาติ โดยเฉพาะชาติพันธมิตรสามารถขยับตัวเพื่อปูทางสู่การเจรจาสันติภาพ ตามที่ทรัมป์ประกาศอยู่เสมอว่า การฆ่าฟันจำเป็นต้องยุติลง
เนื่องด้วยทุกวันนี้ การออกตัวซัพพอร์ตยูเครนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซีย ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาปืนยิงเท้าตัวเองจนยับเยิน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้ก็หดหาย แถมต้องมาแบกรับค่าพลังงานที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะซื้อก๊าซจากบ้านใกล้เรือนเคียงไม่ได้...รุมคว่ำบาตรกันอยู่
แน่นอนว่า สิ่งที่สำคัญ ณ ตอนนี้คือเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเจรจา ซึ่งคำถามมีอยู่ว่า นานาชาติจะทำเช่นไรให้รัฐบาลยูเครนของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เปลี่ยนความคิด เพราะจุดยืนของยูเครน คือการทวงดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมา ซึ่งรวมถึงคาบสมุทรไครเมียที่ถูกรัสเซียผนวกไปตั้งแต่ปี 2557
ถึงจะดูโหดร้าย แต่กระบวนการที่น่าจะส่งผลกระทบที่สุดสำหรับยูเครนคือเรื่องชะลอหรือระงับการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่พักหลังแทบจะพึ่งพาชาติตะวันตกเกือบทั้งหมด
สำหรับชาติยุโรปควรเรียกว่า ให้จนไม่รู้จะให้ยังไงอีก คลังแสงแทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว ที่จะยังพึ่งได้ก็คือสหรัฐฯ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าทรัมป์จะตัดสินใจเรื่องนี้เช่นไร กระนั้น ดูจากความกังวลและความพยายามเร่งส่งอาวุธของรัฐบาลเดโมแครตแล้ว ถือว่ามีแนวโน้มสูงที่สถานการณ์คงไม่สู้ดีเท่าไรนัก
...
แต่การเจรจาทุกอย่างจำเป็นต้องทำ “สองทาง” ซึ่งกรณีนี้ย่อมหมายถึงฝั่ง “รัสเซีย” จะตัดสินใจเช่นไร ภายใต้สมมติฐานที่ชาติตะวันตกทยอยลดการช่วยเหลือยูเครนลงไปเรื่อยๆ และหากกองทัพรัสเซียได้เปรียบยิ่งกว่าเดิม จะเกิดกรณีได้คืบเอาศอกหรือไม่ เรื่องนี้ขอประเมินสถานการณ์กันในตอนต่อไปครับ วันนี้เนื้อที่หมดแล้ว.
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม