มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า การหวนคืน สู่บัลลังก์ทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกาของนาย “โดนัลด์ ทรัมป์” จะส่งผลให้สถานการณ์ ความขัดแย้งในยูเครนที่ดำเนินมากว่า 2 ปี คลี่คลายลงหรือไม่
เนื่องด้วยท่าทีของว่าที่ผู้นำวัย 78 ปี มีแนวโน้มว่าจะทยอยลดการช่วยเหลือยูเครน หรือไม่ก็ผลักภาระไปให้ยุโรปดำเนินการกันเอง (แถมมีสิทธิเก็บเงินยุโรปเพิ่มอีกต่างหาก)
อย่างไรก็ตาม ตามที่ระบุไว้ในตอนที่แล้วว่า เรื่องนี้ต้องมาดูฝ่าย “รัสเซีย” ว่าจะมีท่าทีเช่นไร หากเกิดกรณีที่วันหนึ่งรัฐบาลยูเครนยอมหรือถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ เพื่อเปิดทางสู่การเจรจาสันติภาพ
ข้อสังเกตคือ การลดลงของปริมาณอาวุธยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตก แน่นอนว่าย่อมทำให้กองทัพรัสเซียได้เปรียบมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม เพราะในทุกวันนี้รัสเซียเก็บเกี่ยวประสบการณ์การรบยุคใหม่มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามความเหมาะสมอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 จนทำให้รุกคืบได้อย่างต่อเนื่องตามแนวรบต่างๆ โดยเฉพาะภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน
กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันคือ กลยุทธ์ที่สร้างความได้เปรียบดังกล่าว จำเป็นต้องใช้กำลังพลทหารราบจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะหามาเติมในเวลาอันสั้น ต่างกับอาวุธและกระสุนที่เครื่องจักรอุตสาหกรรม ในแนวหลังกำลังเดินเครื่องอย่างเต็มกำลัง
สิ่งที่ไม่ควรลืมคือรัสเซียทุกวันนี้ ไม่ใช่สหภาพโซเวียต ที่สามารถเติมกำลังพลกองทัพแดงได้เรื่อยๆ ดังนั้น การเจรจาจึงถือเป็นโอกาสที่รัสเซียก็กำลังรออยู่เช่นกัน เพียงแต่จะกำหนดเงื่อนไขกันอย่างไรก็เท่านั้น
และหากดูสิ่งเหมาะสมสำหรับรัสเซียในเพลานี้ คงหนีไม่พ้นการผนวก 4 จังหวัดเคียร์ซอน ซาโปริชเชีย โดเนตสก์ และลูกานสก์ ในทางกายภาพ (หลังจากผนวกไปแล้วในทางเอกสาร) รวมถึงหลักประกันว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) จะไม่กล้ำกรายในดินแดนแห่งนี้อีกต่อไป.
...
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม