วันนี้อาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย จะเดินทางออกจากกรุงริยาดเมืองหลวงของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และต่อเครื่องที่สนามบินมัสกัต รัฐโอมาน เพื่อกลับประเทศไทย กลับมาแล้วผมก็จะขอข้อมูลนำมาเขียนถึงซาอุดีอาระเบียและตะวันออกกลางอีกครั้งหนึ่ง

อังคารวันนี้ขอเล่าถึงอูเครนซึ่งอาจารย์ไปครั้งแรกเมื่อ 1991 ก่อนที่จะมีการตั้งประเทศเป็นอูเครนในปัจจุบัน ชื่อที่โด่งดังในห้วงช่วงที่อาจารย์ไปอูเครนครั้งแรกก็มีนายเวียเชสลาฟ ชอร์โนวิล ผู้นำปัญญาชนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และนายลีโอนิด คราฟชุค อดีตประธานรัฐสภา

ทั้ง 2 คนสู้กันด้วยนโยบายต่างๆ ประชาชนคนที่มาออกเสียงร้อยละ 62 เลือกนายคราฟชุคเป็นประธานาธิบดีคนแรก หลังจากนั้นก็มีการเลือกธงชาติใหม่แทนธงค้อนเคียว สุดท้ายเลือกธงแถบน้ำเงินและเหลือง สีเหลืองหมายถึงข้าวสาลีที่เหลืองอร่ามในทุ่งสเตปป์ สีน้ำเงินหมายถึงท้องฟ้า

15 สาธารณรัฐที่ประกอบกันเป็นสหภาพโซเวียตมีเพียง 3 สาธารณรัฐที่เป็นคนเชื้อสายเดียวกันคือรัสเซีย อูเครน และเบลารุส ทั้ง 3 ประเทศจึงตั้งเครือรัฐเอกราช หรือ CIS พี่น้องเชื้อสายเดียวกัน และทั้ง 3 ประเทศต่างก็ให้สัญญาซึ่งกันและกันว่า เราจะไม่ทิ้งกัน เราจะไม่ละเมิดเขตแดนกัน เราจะมีความเสมอภาคต่อกัน และจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

สหภาพโซเวียตที่ตั้งมานานถึง 70 ปีก็ถึงการล่มสลายหายไปจากโลกใบนี้ หลังเที่ยงคืนวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม 1991

อาจารย์กลับมาบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยมอสโกให้เป็นนิสิตปริญญาเอกเมื่อ 1 มกราคม 1992 การเดินทางครั้งที่ 2 ไปยังดินแดนแห่งนี้ ไม่มีโซเวียตแล้ว มีแต่สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งในช่วงห้วงนั้นทั้ง 15 ประเทศที่แตกกระจัดพลัดพราย กลายเป็นประเทศใหม่ เกิดความวุ่นวาย เงินเฟ้อ ขาดแคลนอาหาร

...

หนึ่งในบรรดาประเทศใหม่ที่สถานการณ์แย่ที่สุดคือ อูเครน ประธานาธิบดีคราฟชุคบริหารประเทศต่อไปไม่ไหว จึงให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาก่อนกำหนดเมื่อมิถุนายน 1994

คราฟชุคเป็นคอมมิวนิสต์เก่า แต่หัวเอียงไปทางตะวันตก คนอูเครนในตอนนั้นอดอยากยากแค้นเป็นอย่างมาก เงินเฟ้อพุ่งไปเป็นพันเปอร์เซ็นต์ คนอูเครนต่างคิดว่าไม่น่าจะเข็นประเทศใหม่ไปรอดถ้าไม่พึ่งรัสเซีย

นายกรัฐมนตรีของคราฟชุคคือ นายเลโอนิด คุชมา คนนี้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ได้เพราะคนอูเครนที่มีเชื้อสายรัสเซียซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ

เมื่อพวกโปรตะวันตกทำให้ประชาชนอดอยากถึงขนาดล้มหายตายจากไปจำนวนไม่น้อย อย่างนั้นก็พึ่งพาคนบ้านใกล้อย่างรัสเซียดีกว่า คนอูเครนเลือกคุชมากันถล่มทลาย เพราะคุชมาสัญญาว่าจะกลับไปฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซียให้แน่นแฟ้นขึ้น

นอกจากเลือกประธานาธิบดีที่โม้ว่าจะไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซียแล้ว คนอูเครนเชื้อสายรัสเซียในภาคตะวันออกและภาคใต้ยังเลือกสมาชิกที่โปรรัสเซียเข้าไปเต็มสภา

แต่ทันทีที่คุชมาเป็นประธานาธิบดี แกก็ทรยศประชาชนด้วยการไปสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและตะวันตก ทำให้เกิดความ ขัดแย้งระหว่างประชาชนและสมาชิกรัฐสภา

รัสเซียเป็นประเทศที่เก่งเรื่องการสร้างเรือรบ เรือดำน้ำ เครื่องบิน และรถถัง ค.ศ.1992 อูเครนพยายามประจบรัสเซียเรื่องขอกรรมสิทธิ์กองเรือในทะเลดำ ท้ายที่สุด รัสเซียยอมช่วยอูเครนด้วยการจ่ายค่าเช่าฐานทัพเรืออูเครนที่เมืองเซวัสโตปอลอีก 20 ปี

อูเครนเป็นประเทศหนึ่งซึ่งถูกสหรัฐฯและตะวันตกเข้ามาแทรกแซงจนทำให้เกิดเรื่องทุจริตคอร์รัปชันมากมาย ลูกเขยประธานาธิบดีคุชมาได้รับการหนุนหลังจากตะวันตกจนได้สิทธิควบคุมโรงงานผลิตเหล็กกล้าที่ใหญ่และได้ผลกำไรมากที่สุด เงินทั้งหลายที่ควรจะอยู่กับประชาชนคนอูเครนกลับไหลไปอยู่ที่สหรัฐฯและนักการเมืองที่โปรตะวันตก

ช่วงนั้นอาจารย์ไปอูเครนหลายครั้ง คุยกับใครก็ถูกขอร้องเรื่องช่วยหางานในต่างประเทศให้พวกเราด้วย ช่วงไม่กี่ปีที่แยกประเทศออกมา คนอูเครนมากกว่า 7 ล้านคนอพยพไปทำมาหากินนอกประเทศ

พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.


นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม