อาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ย้ายจาก ผ.4 (ต่อต้านข่าวกรอง) กก.2 บก.อก.ตชด. ไปอยู่ที่กองวิจัยและวางแผน กรมตำรวจ เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่สหภาพโซเวียตตามความต้องการของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย

 หลังจากนั้นก็ได้รับการอนุมัติให้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตเมื่อ 11 กันยายน 1991 นอกจากอยู่ในกรุงมอสโกแล้วก็ยังเดินทางไปที่กรุงคีฟของสาธารณรัฐอูเครน ซึ่งในช่วงนั้นยังเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต

ในช่วงที่ไปถึงอูเครนนั้น สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสับสน คนอูเครนไม่เคยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมาก่อน เพราะก่อนหน้านั้นโซเวียตมีผู้นำชื่อนายกอร์บาชอฟ ที่เป็นคนอ่อนหัด หลงกลสหรัฐฯและตะวันตก ยอมให้มีการเลือกตั้งผู้แทนรัฐสภาของสาธารณรัฐต่างๆตามระบอบประชาธิปไตย แล้วก็ปล่อยระบบเศรษฐกิจเป็นเสรี ทั้งการเมือง เศรษฐกิจแบบใหม่ที่คนไม่เคยสัมผัสมาก่อนทำให้คนเกิดความโกลาหลอลหม่าน สังคมเกิดความสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อูเครน

ย้อนหลังไปปีกว่า ก่อนที่อาจารย์นิติภูมิธณัฐจะไปอูเครนครั้งแรก คือเดือนมีนาคม 1990 มีการเลือกตั้งรัฐสภาอูเครนตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ผู้แทนที่ไม่ได้มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับเลือกเข้าสู่สภาสูงสุดมากถึง 210 คน จากสมาชิกรัฐสภา 450 คน ทำให้นายเลโอนิด คราฟชุค คอมมิวนิสต์สายปฏิรูปได้รับเลือกเป็นประธานสภา และพอถึง ค.ศ.1991 ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอูเครน

ช่วงนั้นมีกระแสเรียกร้องเอกราชเพื่อแยกตัวจากสหภาพโซเวียตถึง 3 สาธารณรัฐคือ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย กระแสการเรียกร้องดังมาก ทำให้พวกปัญญาชนในอูเครนตื่นเต้น และเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสหภาพโซเวียตเพื่อสนับสนุนการแยกตัวของ 3 สาธารณรัฐ

ตอนที่อาจารย์นิติภูมิธณัฐอยู่ในกรุงคีฟเมื่อ ค.ศ.1991 คำว่า ‘รุค’ ดังมาก เจอใครคนไหนอยากทันสมัยก็จะต้องพูดคำว่ารุค ซึ่งเป็นชื่อของขบวนการที่เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง

...

โซเวียตถือว่าเป็นประเทศหลังม่านเหล็ก เรื่องข้างในไม่ออกมาข้างนอก เรื่องข้างนอกไม่เข้าไปข้างใน สมัยนั้นคนต่างประเทศเป็นบุคคลที่คนโซเวียตถือว่าเป็นของใหม่ที่โก้เก๋ถ้าได้พูดคุยด้วย อาจารย์นิติภูมิธณัฐได้คุยกับคนอูเครนหัวก้าวหน้าอยู่หลายคน และเมื่อเปรียบเทียบคนอูเครนกับคนรัสเซียใน ค.ศ.1991 ตามความเห็นส่วนตัวพบว่า คนอูเครนมีหัวรุนแรงทางการเมืองมากกว่าคนรัสเซีย

ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการร่างสนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพใน ค.ศ.1991 เพื่อให้รัฐต่างๆ มีอำนาจอธิปไตยและได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็ล้มเหลว พวกคอมมิวนิสต์และกองทัพจึงร่วมมือกันทำรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ แต่เยลต์ซินซึ่งตอนนั้นเป็นแค่ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐรัสเซีย (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) ออกมาต่อต้านรัฐประหาร จนการรัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว

กรุงมอสโกกำลังปั่นป่วนรวนเรด้วยกระแสการเมืองใหม่ รัฐสภาอูเครนเห็นว่าเป็นจังหวะที่จะแยกประเทศจึงเรียกประชุมฉุกเฉินเป็นวาระพิเศษ และประกาศความเป็นเอกราชของคนอูเครนเมื่อ 24 สิงหาคม 1991 แต่ว่าช่วงนั้นยังไม่ได้เป็นเอกราชจริงๆ เพราะยังไม่มีการลงประชามติ

การลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเกิดขึ้นเมื่อ 1 ธันวาคม 1991 ตอนนั้นให้แบ่งการปกครองของประเทศอูเครนเป็น 24 จังหวัด + เขตการปกครองอิสระอีก 1 สาธารณรัฐ กำหนดให้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

คนอูเครนร้อยละ 84 ออกมาลงประชามติ และร้อยละ 90 ของคนที่มาลงคะแนนเสียงให้สัตยาบันความเป็นเอกราชของประเทศ อาจารย์นิติภูมิธณัฐซึ่งเป็นผู้เขียนเปิดฟ้าส่องโลกคนแรกอยากให้ประวัติศาสตร์ของอูเครนที่ตนเองได้ไปสัมผัสมาเป็นที่เปิดเผย ตั้งแต่มีคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกมานานกว่า 27 ปี ไม่เคยเขียนเรื่องของอูเครนละเอียดอย่างนี้มาก่อน

ปีหน้า ค.ศ.2025 อาจารย์นิติภูมิธณัฐทำนายว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอูเครน ในฐานะที่ตนเองเคยอยู่ในเหตุการณ์ร่วมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของอูเครนหลายครั้ง จึงไม่อยากจะให้ข้อมูลที่ตนเองได้ประสบหายไปกับกาลเวลา

ขออนุญาตมาต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
pasalok1998@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม