• โดนัลด์ ทรัมป์ เลือก อีลอน มัสก์ กับ วิเวก รามาสวามี 2 มหาเศรษฐี คุมองค์กรใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อ ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของรัฐบาลกลาง

  • นายทรัมป์ยังไม่เผยรายละเอียดเกี่ยวกับ กระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล มากนัก และนักวิเคราะห์ก็ต่างพากันตั้งคำถามว่า นายมัสก์จะมีอำนาจพอทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่

  • คำถามสำคัญอีกข้อคือ หากองค์กรนี้สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง พวกเขาจะไปลดงบประมาณในส่วนไหน?

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของรัฐบาลกลาง และเลือกมหาเศรษฐี 2 คนคือ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เทสลา กับ สเปซเอ็กซ์ และนาย วิเวก รามาสวามี นักธุรกิจใหญ่ มาเป็นผู้นำองค์กรใหม่เอี่ยมที่เรียกว่า “กระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล” หรือ “DOGE”

การแต่งตั้งนี้ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมา รวมถึงเรื่องที่ว่า นายมัสก์กับนายรามาสวามีจะมีอำนาจพอทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เนื่องจากผู้มีอำนาจในการกำหนดค่าใช้จ่ายของรัฐ คือสภาคองเกรส และถึงจะมีชื่อว่ากระทรวง แต่ DOGE ก็ไม่ใช่กระทรวงของรัฐบาลแต่เป็นเหมือนคณะกรรมการที่ปรึกษามากกว่า

แต่หากพวกเขาเกิดมีอำนาจสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ก็มีคำถามอีกว่า พวกเขาจะไปลดค่าใช้จ่ายที่ตรงไหน ถึงแม้ อีลอน มัสก์ จะอ้างว่า เขาอาจหาที่ลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ จากงบประมาณรายปีของรัฐบาลกลาง 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เขาก็ไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ

2 ใน 3 ของงบประมาณดังกล่าว เป็นการใช้จ่ายภาคบังคับ ผ่านโครงการต่างๆ รวมถึง ประกันสังคม และประกันสุขภาพ ขณะที่การใช้จ่ายตามดุลพินิจ ส่วนใหญ่ก็ใช้ไปกับการทหาร อีลอน มัสก์ จะตัดงบตรงไหนเพื่อประหยัดเงินได้ถึงเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์?

...

กระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาลคืออะไร

ทรัมป์ประกาศเรื่องกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาลในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยอธิบายว่าเป็นความพยายามในการลดข้อบังคับและการตรวจสอบที่เกิดความจำเป็น, ตัดลดการใช้จ่ายสูญเปล่า และปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐบาลกลางใหม่

ชื่อย่อขององค์กรนี้ ล้อกับชื่อของเงินคริปโตที่เรียกว่า “ดอจคอยน์” (dogecoin) ที่ตอนแรกถูกสร้างขึ้นมาขำๆ โดยวิศวกรซอฟต์แวร์ 2 คน โดยใช้หน้าของสุนัขพันธุ์ชิบะ ซึ่งกำลังเป็นมีมโด่งดังบนโลกออนไลน์ในเวลานั้นมาใช้เป็นรูปเหรียญ อย่างไรก็ตาม นายมัสก์ให้การสนับสนุนอย่างมาก และดอจคอยน์ก็มีมูลค่าสูงขึ้นจากเดือนก่อนมากกว่า 3 เท่า

นายทรัมป์กล่าวว่า งานของนายมัสก์กับนายรามาสวามี จะได้ข้อสรุปไม่เกินวันที่ 4 ก.ค. 2569 หรือวันครบรอบ 250 ปี การประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์เปิดเผยเพียงเค้าโครงพื้นฐานขององค์กรนี้เท่านั้น ไม่ได้เจาะจงรายละเอียดว่า DOGE จะจัดหาพนักงานหรือหางบประมาณมาจากไหน และทีมหาเสียงของนายทรัมป์ก็ไม่ของนักข่าว ทั้งเรื่องงบประมาณของ DOGE และเรื่องที่ว่า นายมัสก์กับนายรามาสวามี จะได้รับค่าแรงหรือไม่ด้วย

DOGE จะลดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางได้หรือไม่?

ณ ตอนนี้ ซึ่งนายทรัมป์ยังไม่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี และรัฐบาลของเขาก็ยังอยู่ในระหว่างการประกอบร่าง ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดเลยที่บอกว่า กระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล จะสามารถลดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางได้ เพราะการทำเช่นนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส

งบประมาณของหน่วยงานรัฐบาลกลาง อนุมัติโดยสภาคองเกรส อันประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรครีพับลิกันสามารถยึดทั้งสองสภามาอยู่ในมือได้สำเร็จ ทำให้ฝ่ายรีพับลิกันครองทั้งอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติเสร็จสรรพ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสมาชิกสภาจะเห็นด้วยกับนายทรัมป์ไปเสียทุกอย่าง พวกเขาอาจลังเลหากต้องตัดงบประมาณโครงการใหญ่อย่างประกันสังคม หรือประกันสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายล้านคนในสหรัฐฯ ส่วนงบฯ กองทัพก็ตัดไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐฯ เข้าไปพัวพันกับปัญหาในหลายพื้นที่ของโลก

ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า DOGE จะดำเนินงานอย่างไร พวกเขาอาจทำงานภายใต้กฎหมาย คณะกรรมการที่ปรึกษากลาง (Federal Advisory Committee Act) ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่า องค์กรภายนอกที่จะสามารถให้คำแนะนำแก่รัฐบาล แต่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

นายทรัมป์กล่าวว่า บทบาทของนายมัสก์กับนายรามาสวามี คือการให้คำปรึกษา และชี้แนะจากภายนอกรัฐบาล

...

มัสก์อยากลดหน่วยงานรัฐ

อีลอน มัสก์ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ในตอนนี้มีขนาดใหญ่เกินไปแล้ว และใช้จ่ายอย่างไม่ยั่งยืน ซึ่งเขาต้องการลดจำนวนหน่วยงานของรัฐบาลกลางลง จากมากกว่า 400 หน่วยงาน ให้เหลือเพียง 99 หน่วยงาน

“มีหน่วยงานมากมายที่ประชาชนไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำ และมีความรับผิดชอบทับซ้อนกันในหลายพื้นที่” นายมัสก์กล่าวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน

และระหว่างที่เดินสายช่วยนายทรัมป์หาเสียง นายมัสก์เคยพูดไว้ว่า เขาอาจสามารถตัดการใช้จ่ายรายปีของรัฐบาลกลางลงอย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ “เงินของคุณกำลังถูกใช้อย่างสูญเปล่า และกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาลจะแก้ไขเรื่องนี้”

ทั้งนี้ นายมัสก์ขึ้นชื่อเรื่องการตัดลดค่าใช้จ่ายในบริษัทของตัวเองอยู่แล้ว โดยเขาหั่นกำลังคนของ X หรือชื่อเก่าคือ ทวิตเตอร์ ออกเกือบทั้งหมด หลังซื้อธุรกิจนี้มาเมื่อ 2 ปีก่อน และควบคุมการใช้จ่ายด้านการผลิตของบริษัท เทสลา ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมามีทั้งดีและร้าย X สูญเสียมูลค่าตลาดไป 80% ภายใน 2 ปี ขณะที่หุ้นเทสลาพุ่งทะยาน 48% ในช่วงปีที่ผ่านมา

ขณะที่นาย รามาสวามี ซึ่งลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย แต่ตัดสินใจถอนตัวในเดือนมกราคม เขามีนโยบายต่อต้านการโวค (Woke) หรือ การตื่นรู้หรือตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศ และเขาสนับสนุนให้รัฐบาลตัดงบประมาณด้วยการ ปิดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนายทรัมป์ก็มีท่าทีเห็นด้วย

หลายรัฐบาลเคยพยายามลดการใช้จ่ายมาแล้ว

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งจากฝ่ายรีพับลิกันหรือเดโมแครต ต่างก็เคยพยายามหาทางลดการใช้จ่ายของรัฐบาลมาแล้ว

ในปี 2525 ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน จัดตั้งคณะกรรมการเกรซ (Grace Commission) นำโดยนาย เจ. ปีเตอร์ เกรซ นักธุรกิจใหญ่ ซีอีโอของบริษัท W. R. Grace & Company มีอาสาสมัครเข้าร่วมในองค์กรนี้ประมาณ 150 คน และมีคำแนะนำเรื่องการปฏิรูปให้แก่รัฐบาลถึง 2,500 ครั้ง

แต่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคำแนะนำที่จำเป็นต้องให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมาย ไม่เคยถูกบังคับใช้เลย

ในช่วงยุค 90 บิล คลินตัน ก็ก่อตั้งคณะกรรมการทบทวนการทำงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายจะสร้างรัฐบาลที่ทำงานได้ดีขึ้น แต่ใช้จ่ายน้อยลง โดยสมาชิกคณะกรรมการประกอบด้วยข้าราชการที่เข้าใจระบบราชการมากที่สุด และมีหลายคนที่ไม่พอใจในระบบดังกล่าว

ในท้ายที่สุด องค์กรนี้ก็สามารถตัดค่าใช้จ่ายของรัฐไปได้บ้าง แต่ก็ต้องแลกกับตำแหน่งงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่ง

...

วิเวก รามาสวามี
วิเวก รามาสวามี

รัฐบาลทรัมป์ควรลดค่าใช้จ่ายตรงไหน?

แม้ผู้เชี่ยวชาญจะไม่เชื่อที่นายมัสก์พูดว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลางได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะช่วยรัฐประหยัดเงินได้จริง

กลุ่มพลเรือนต่อต้านการใช้จ่ายสูญเปล่าของรัฐบาล (CAGW) ระบุว่า การกำจัดการฉ้อโกงในระบบประกันสุขภาพ อาจส่งผลให้รัฐประหยัดเงินได้ หรือลดการสมทบทุนให้แก่องค์การสหประชาชาติ และยุติการจ่ายเงินอุดหนุนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางอย่าง ซึ่งหากทำตามนี้ CAGW คาดว่ารัฐบาลจะประหยัดเงินได้ 3.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีแรก

แต่ประสิทธิภาพต้องการมากกว่าลดค่าใช้จ่าย น.ส. เอเลน คามาร์ค สมาชิกอาวุโสด้านการศึกษาการบริหารจากสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) ผู้เคยอยู่ในคณะกรรมการทบทวนการทำงานแห่งชาติ ของ บิล คลินตัน กล่าว เพราะต้องทำความเข้าใจการทำงานของระบบราชการด้วย

“ทุกอย่างในรัฐบาลกลางนั้นทั้งมีขนาดใหญ่และซับซ้อน และมีชั้นแห่งความซับซ้อนทับถมกันอีกที” น.ส.คามาร์คกล่าว “อัล กอร์ กับฉันต้องพึ่งข้าราชการมากประสบการณ์หลายร้อยคน เพื่อบอกเราว่า มันทำงานอย่างไร และหากคุณไม่ทำเช่นนี้ ... คุณก็จะล้มเหลว”

...

อีลอน มัสก์ มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่...

บริษัท สเปซเอ็กซ์ ของนายมัสก์ ทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมและนาซา ซึ่งรัฐบาลกลางสัญญาจะมอบงบประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ให้กับบริษัทของเขาเมื่อปีก่อน สเปซเอ็กซ์ยังเคยถูกสืบสวนด้วยสำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรทางหลวง และองค์กรอื่นๆ ด้วย

ลูกจ้างรัฐบาลกลางจำเป็นต้องเปิดเผยทรัพย์สินและเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่นายมัสก์กับนายรามาสวามี ไม่ได้เป็นลูกจ้างรัฐบาลกลางอย่างเป็นทางการ เพื่อเขาจึงไม่จำเป็นต้องทำตามข้อกำหนดนี้ หรือเผชิญข้อจำกัดทางจริยธรรม





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cbsnews , forbes