ทีมวิจัยค้นพบปะการังที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ โดยระบุว่ามันมีขนาดใหญ่กว่าวาฬสีน้ำเงินและน่าจะมีอายุเกินกว่า 300 ปีแล้ว
ปะการังนี้ถูกค้นพบโดยช่างภาพวิดีโอที่ทำงานบนเรือของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งเดินทางสำรวจส่วนที่ห่างไกลของมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มานู ซาน เฟลิกซ์ ผู้ที่พบปะการังคนแรกเล่าว่า เขาไปดำน้ำในสถานที่ที่แผนที่บอกว่ามีซากเรือจมอยู่ แล้วเขาก็เห็นบางสิ่งบางอย่าง เขาเรียกลูกชายของเขา อินิโก ซึ่งเป็นคู่หูดำน้ำ มาดูด้วยกัน พวกเขาดำลงลึกเพื่อสำรวจเพิ่มเติม และได้พบความยิ่งใหญ่อลังการของมัน เหมือนได้เห็น “มหาวิหารใต้น้ำ”
นักวิทยาศาสตร์ในการสำรวจครั้งนี้ใช้สายวัดชนิดพิเศษใต้น้ำเพื่อวัดขนาดของปะการังนี้ โดยปะการังมีความกว้าง 34 เมตร ยาว 32 เมตร และสูง 5.5 เมตร
ปะการังนี้ถูกพบในน้ำลึกกว่าแนวปะการังบางส่วน ทำให้มันได้รับการปกป้องจากอุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้นได้ ซึ่งเอริค บราวน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านปะการังที่ร่วมเดินทางกับทีมวิจัยครั้งนี้ระบุว่าสภาพของปะการังนี้ยังดูดีอยู่ แม้ว่าแนวปะการังตื้น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงจะเสื่อมสภาพลงเนื่องจากทะเลที่อุ่นขึ้น
แต่การได้เห็นปะการังที่แข็งแรงขนาดใหญ่นี้ในน้ำที่ลึกขึ้นถือเป็นสัญญาณของความหวัง
...
ปะการังชนิดนี้คือ Pavona clavus ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกุ้ง, ปู, ปลา และสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่นๆ
อายุของปะการังตัวนี้ยังช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาถึงสภาพทะเลในอดีต และการเติบโตของมันได้ด้วย
รายงานที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้พบว่า 44% ของปะการังที่อาศัยในน้ำที่อุ่นขึ้นกำลังเผชิญกับการคุกคามจนเกือบสูญพันธุ์ ตามข้อมูลจากสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของ 1 ใน 3จากการประเมินครั้งล่าสุดในปี 2008
การค้นพบนี้ถูกเปิดเผยขึ้น พร้อมๆกับการประชุมด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ COP29 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งกำลังพยายามแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้านนายเทรเวอร์ มาเนมาฮากา รัฐมนตรีด้านสภาพอากาศของหมู่เกาะโซโลมอน ระบุว่าประเทศของเขาภูมิใจในปะการังที่ค้นพบใหม่นี้ "เราต้องการให้โลกได้รู้ว่านี่คือสถานที่พิเศษ และมันควรได้รับการปกป้อง" เขากล่าว “เราพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเป็นส่วนใหญ่เพื่อการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นปะการังจึงมีความสำคัญมาก และสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นเราต้องแน่ใจว่าปะการังของเราไม่ถูกใช้ประโยชน์เกินควร”
ประเทศเกาะเล็ก ๆ เช่น หมู่เกาะโซโลมอน มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อย่างการเกิดพายุไซโคลนที่รุนแรงขึ้นและกัดเซาะชายฝั่งจนทำให้บ้านเรือนถล่มลงไปในน้ำ โดยชาติกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมการประชุมต่างเรียกร้องเงินช่วยเหลือมากขึ้น จากประเทศที่ร่ำรวยกว่า เพื่อช่วยพวกเขาดำเนินการตามแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตต่อไป.
ที่มา : BBC
คลิกอ่านข่าว ปะการัง