ความพยายามในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อสร้างเอกภาพในภูมิภาคตะวันออกกลางมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ สันนิบาตแห่งรัฐอาหรับ กติกาสัญญาแบกแดด สหสาธารณรัฐอาหรับ สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ สหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับ องค์การการประชุมอิสลาม คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สหภาพอาหรับมาเกร็บ คณะมนตรีความร่วมมือแห่งอาหรับ การรวมตัวของเยเมน และโครงการหุ้นส่วนยุโรป-เมดิเตอร์เรเนียน
อาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย และคณะอยู่ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย งานสำคัญวันเสาร์มะรืนนี้ 16 พฤศจิกายน 2024 ก็คือ การประชุมกับกระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย
ดร.มนตรี บุญจรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทปิยลาภาร่วมเดินทางมาซาอุฯในครั้งนี้ด้วย อาจารย์นิติภูมิธณัฐเล่าให้ ดร.มนตรีฟังว่า เวียดนามมีมุสลิมน้อยมาก แต่กลับมีความสัมพันธ์ ที่ดีกับซาอุฯ และมีการค้าการลงทุนระหว่างกันมากพอสมควร
ไทยมีมุสลิมหลายล้าน แม้แต่ประธานรัฐสภาท่านปัจจุบันก็เป็นมุสลิม ถ้าเทียบไทยกับเวียดนาม เรามีสะพานเชื่อมกับโลกมุสลิมได้ดีกว่า เวียดนามมีมุสลิมน้อยไม่ถึงแสน ทว่ารัฐบาลเวียดนามส่งเสริมการศึกษาองค์กรของโลกอิสลามเพื่อสร้างความสัมพันธ์สำหรับหาช่องทางการค้าการลงทุนกับตะวันออกกลางอย่างจริงจัง
การรวมกลุ่มและสร้างเอกภาพในตะวันออกกลางที่น่าสนใจก็เป็นองค์กรสันนิบาตแห่งชาติอาหรับที่ตั้งเมื่อ ค.ศ.1945 แรกเริ่มเดิมทีมี 7 ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก 22 ประเทศ ความมุ่งหวังตั้งใจก็คือสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก
ประเทศสมาชิกบางแห่งร่ำรวย เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และกาตาร์ ทว่าประเทศเหล่านี้มีประชากรน้อย จำเป็นต้องพึ่งแรงงานจากต่างประเทศ ประชากรเกือบร้อยละ 50 ของโลกอาหรับอยู่ในอียิปต์ แอลจีเรีย ซูดาน และโมร็อกโก จึงมีการนำแรงงานเหล่านี้ไปใช้ในประเทศอาหรับร่ำรวย แต่ก็ไม่พอ ยังมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่น ในอดีตแรงงานที่ได้รับความนิยมมาจากไทย แต่ปัจจุบันแรงงานบังกลาเทศมีจำนวนมาก
...
หลายท่านถามว่าโลกอาหรับมีชนชั้นหรือไม่ ผู้นำคณะที่เดินทางมาตะวันออกกลางในครั้งนี้คือ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยเขียนถึงโครงสร้างทางสังคมของอาหรับว่า แบ่งเป็น 3 ชนชั้น ชนชั้นสูงเป็นกลุ่มราชนิกุล ตระกูลสูงศักดิ์ และครอบครัวมหาเศรษฐี ชนชั้นกลางเป็นพวกข้าราชการ ทหาร ครูอาจารย์ นักธุรกิจมั่งคั่ง และเจ้าของที่ดินร่ำรวย ส่วนคนชั้นล่างก็เป็นเกษตรกร คนยากจนตามชนบทและเมือง
คนอาหรับต่างชนชั้นไม่ค่อยมีความขัดแย้ง เพราะมีการยอมรับสถานะทางสังคมที่ตนเองเกิดมา การเลื่อนชั้นทางสังคมในโลกอาหรับเป็นไปได้ยาก เพราะสถานะทางสังคมถูกกำหนดอย่างเคร่งครัดจากพื้นฐานของครอบครัว การจะสร้างสถานะจากชนชั้นล่างให้ได้รับการยอมรับต้องใช้เวลานานหลายชั่วอายุคน คนชั้นสูงที่เสียอำนาจหรือทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ถูกลดสถานะอย่างทันทีทันใด ต้องใช้เวลายาวนานเช่นกัน
การเข้ามาลงทุนหรือค้าขายกับโลกอาหรับก็ต้องดูสถานะทางสังคมของคู่ค้า คนบางสถานะทำอะไรง่ายไปหมด บางสถานะทำอะไรก็ยากเย็นเข็ญใจ สำหรับคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในโลกอาหรับส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในชนชั้นสูง ยกเว้นกลุ่มใช้แรงงาน
คนอาหรับชั้นสูงจะมีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับสถานะ ไม่ทำกิจกรรมหลายอย่างด้วยตนเองต่อหน้าผู้อื่น เช่น ล้างรถ เก็บขยะ ทำงานบ้าน คนอาหรับชั้นสูงมักจะนั่งทำงานในสำนักงาน คนต่างชาติที่เข้าไปทำการค้าการลงทุนต้องระมัดระวังในการใช้งานคนอาหรับที่ทำงานในสำนักงานของตัวเอง จะใช้ให้ไปซื้อของ ชงกาแฟ อย่างนี้ไม่สมควร
นอกจากนั้น ยังต้องระมัดระวังเรื่องการแต่งตัว เครื่องแต่งกายต้องแสดงสถานะทางสังคม ผู้หญิงต้องมีอัญมณีและเครื่องประดับหรูหราราคาแพง ทองคำต้องแพรวพราววาวแวว พวกผู้ชายจะดูกันที่นาฬิกา ไฟแช็ก ปากกา ตะขอเกี่ยวประดับแขนเสื้อ (คัฟลิงค์) คนต่างชาติที่มีสถานะดีจึงไม่ควรใส่กางเกงยีนส์เก่า เสื้อคอกลม หรือลากรองเท้าแตะ
ไม่เคยมีใครสะดุดภูเขาล้ม มีแต่ล้มเพราะสะดุดหินก้อนเล็ก เรื่องเล็กน้อยที่ผมเล่ารับใช้ไปจึงมีความสำคัญในการติดต่อกับโลกอาหรับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม