การเยือนนครฉงชิ่ง ประเทศจีน ยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ นครแห่งนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา คิดเป็น 6 ใน 8 มีแม่น้ำแยงซีลากผ่านกว่า 600 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากเส้นทางมีทั้งลงเขา ขึ้นเขา ผ่านอุโมงค์ทะลุเขาและขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำ

โชคดีที่ผู้เขียนและคณะผู้อบรมโดยสารด้วยรถไฟความเร็วสูง ออกจากสถานีเฉิงตูตะวันออก มณฑลเสฉวน ด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งนิ่มๆ ไม่สะเทือนแก้วชาร้อนของผู้เขียนที่วางไว้ริมหน้าต่าง เข้าสู่สถานีฉงชิ่งตะวันตก นครฉงชิ่งในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าเดินทางด้วยรถบัสจะใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง

เมื่อเริ่มชินกับการเดินทาง ผู้เขียนก็เกิดข้อสงสัยระหว่างที่นั่งรถบัสไปศึกษาดูงานว่า ทำไมที่นี่มีสะพานมากมายขนาดนี้ ซึ่งก็ได้รับคำตอบเมื่อได้เยือน “Chongqing Planning Exhibition Hall” ศูนย์จัดนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของฉงชิ่ง ได้ความว่า เพราะมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับทับซ้อนกัน ทำให้ต้องสร้างสะพานเพื่อใช้สำหรับการสัญจร โดยในปี พ.ศ.2548 ฉงชิ่งก็ได้รับฉายาว่า “นครแห่งสะพาน”

นั่นเพราะเมื่อนับสะพานในฉงชิ่งตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีสะพานมากถึง 20,000 แห่ง ส่วนไฮไลต์สำคัญคือ “สะพาน 8 ทิศ” สร้างซ้อนกัน 5 ชั้น ซึ่งบอกเลยว่าต้องใช้เวลาหลายเดือนในการทำแผนที่เพื่อให้สามารถระบุพิกัดได้อย่างแม่นยำมากที่สุด

ส่วน “การสัญจรทางรถไฟ” ก็มีเยอะจนอธิบายให้เห็นภาพได้ว่า ฉงชิ่งมีเส้นทางรถไฟ ที่มีความเป็นใยแมงมุม ที่นี่มีรางรถไฟยาวถึง 2,000 กิโลเมตร และปัจจุบันมีรถไฟอยู่ที่ 12สาย รวมทั้งมีเป้าหมายว่าในปี พ.ศ.2578 ฉงชิ่งจะพัฒนารางรถไฟให้เพิ่มขึ้นมาเป็น 24 สาย

อีกแลนด์มาร์กที่ต้องแวะชมคือ สถานีรถไฟฟ้ารางเบา “หลีจื่อป้า” ซึ่งมีรางรถไฟยาว 132 เมตรทะลุตึกสูง 19 ชั้น ภายในมีทั้งร้านค้าและที่พักอาศัย โดยสถานีนี้ถูกออกแบบมาอย่างดีและก่อสร้างพร้อมกับอาคาร ทำให้ไม่ส่งเสียงรบกวนและไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตัวอาคาร.

...

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม