ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน เจ้าภาพประชุม COP29 กล่าวกลางที่ประชุมว่า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน คือของขวัญจากพระเจ้า และประเทศต่างๆ ไม่ควรถูกกล่าวโทษที่มีมัน

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2567 ที่การประชุม COP29 หรือการประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน นายอิลฮัม อาลิเยฟ ประธานาธิบดีของประเทศเจ้าภาพ กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน คือของขวัญจากพระเจ้า และประเทศต่างๆ ไม่ควรถูกกล่าวโทษที่มีมัน

ประธานาธิบดีอาลิเยฟกล่าวในวันที่ 2 ของการประชุมว่า อาเซอร์ไบจานตกเป็นเป้าหมายของการใส่ความและแบล็กเมล ก่อนที่การประชุม COP29 จะเริ่มขึ้น จนดูเหมือนกับว่า สื่อข่าวปลอม, องค์กรการกุศล และนักการเมืองของชาติตะวันตก พยายามแข่งกันแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอาเซอร์ไบจาน

นายอาลิเยฟยืนยันว่า ส่วนแบ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาเซอร์ไบจานอยู่ที่ 0.1% เท่านั้น และ “น้ำมัน, ก๊าซ, ลม, ดวงอาทิตย์, ทองคำ,เงิน หรือ ทองแดง ทั้งหมดล้วนเป็นทรัพยากรธรรมชาติ และประเทศใดๆ ไม่ควรถูกกล่าวโทษที่มีมัน และไม่ควรถูกกล่าวโทษที่นำมันเข้าสู่ตลาด เพราะตลาดต้องการทรัพยากรเหล่านี้”

ทั้งนี้ การประชุม COP เป็นเวทีการเจรจาที่จะนำกลุ่มประเทศที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลัก มาเจรจาและทำข้อตกลงร่วมกับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์หลายคนแสดงความกังวลว่า อาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม กำลังใช้ที่ประชุม COP29 เพื่อส่งเสริมการลงทุนในบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาที่นายอาลิเยฟ ระบุว่าเป็นการใส่ความ

...

หลังจากนายอาลิเยฟมีถ้อยแถลงไม่นาน นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ก็บอกกับที่ประชุมว่า การยืนยันไม่ยอมรับเรื่องปัญหาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และว่า การปฏิวัติของพลังงานสะอาดมาถึงแล้ว และไม่มีรัฐบาลได้ที่จะสามารถหยุดยั้งมันได้

นายกูเตร์เรสบอกด้วยว่า จำเป็นต้องมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินใหม่ โดยที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด จะต้องจ่ายเงินชดเชยมากที่สุด “พวกเขาเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุด ซึ่งมาพร้อมกับขีดความสามารถ กับความรับผิดชอบที่มากที่สุด” “ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องไปกลับไปจากบากู (เมืองหลวงอาเซอร์ไบจาน) ด้วยมือเปล่า”

อนึ่ง สหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับการจับตามองอย่างมากในที่ประชุม COP29 หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ไม่เชื่อในเรื่องภาวะโลกร้อน ชนะการเลือกตั้งได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของแดนลุงแซม

โดยเมื่อวันจันทร์ นายจอห์น โปเดสตา ทูตของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยืนยันว่า ทีมของสหรัฐฯ จะสานต่อข้อตกลงที่ผ่านในการประชุม COP28 เมื่อปี 2566 เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า ภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี คาดกันว่าคำพูดของประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหลังฉาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้ประเทศยากจนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือพวกเขาในการบังคับใช้มาตรการด้านสภาพอากาศของพวกเขา

แต่ผู้นำของประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลกหลายประเทศไม่มาร่วมการประชุม เช่นนาย โจ ไบเดน, นายเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และนายนเรนทรา โมดี ของอินเดีย

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc