เป็นที่ทราบกันดีว่า “ไต้หวัน” ณ เพลานี้ ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในเวทีนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าร่วมกลุ่มองค์กรความร่วมมือพหุภาคีต่างๆ

เช่นเดียวกับการประชุมองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) ประจำปี 2567 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งไต้หวันหวังจะได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยกรณีนี้นายจาง จวิ้น ฝู ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ให้ความเห็นว่า นายอาเหม็ด นาเซอร์ อัล-ไรซี ประธานอินเตอร์โปลเคยแถลงเอาไว้ “การแบ่งปันข่าวกรอง กลยุทธ์และทรัพยากรอย่างเปิดเผย ช่วยให้เราพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามระดับโลก เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และการก่อการร้ายได้ดีขึ้น”

เช่นนั้นการจับมือกับไต้หวันของอินเตอร์โปลจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้นแก่ประชาคมโลกมิใช่หรือ เนื่องด้วยไต้หวันมีองค์กรตำรวจ หน่วยงานยุติธรรม การค้าการเงิน ระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำ ระบบการควบคุมการเข้าเมือง มีประสบการณ์ที่หลากหลายกับการร่วมมือปราบปรามการฉ้อโกงหลอกลวงทางดิจิทัลข้ามพรมแดน การค้ายาเสพติด การโจมตีทางไซเบอร์ การต่อต้านอาชญากรรมและการก่อการร้าย ที่สำคัญ กลไกการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันเวลา

การสำรวจดัชนีทางเศรษฐกิจของหอ การค้าสหรัฐอเมริกาประจำปี 2567 บ่งชี้ว่า สมาชิกนักธุรกิจชาวอเมริกันมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า “ความปลอดภัยของบุคคล” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาพำนักถาวรและมาทำงานในไต้หวัน และตั้งแต่ปี 2560 ถือเป็นหัวข้อที่นักธุรกิจต่างชาติพึงพอใจมากที่สุดตลอดมา

อย่างไรก็ตาม แม้ไต้หวันจะมีสมรรถภาพสูงในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ระหว่างการสืบสวนอาชญากรรมนอกจากความร่วมมือกับมิตรภาพแล้ว การได้รับหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันเวลาก็เป็นกลไกสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติเช่นกัน แต่ด้วยอุปสรรคที่ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกอินเตอร์โปล ไต้หวันจึงได้แต่แสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศทางอ้อม

...

ทำให้ต้องเสียเวลาไม่น้อยกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งเมื่อได้มาก็อาจพลาดโอกาสหรือล่วงเลยเวลาไปแล้ว สภาพที่เป็นอุปสรรคอันไม่น่าจะเป็นเช่นนี้มักทำให้อาชญากรข้ามชาติมีเวลากระทำความผิดมากกว่าเดิม และก่อให้เกิดความสูญเสียระดับโลกอย่างใหญ่หลวง...คำอธิบายของผู้อำนวยการใหญ่ยังมีต่อในวันพรุ่งนี้ครับผม.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม