เหตุผลง่ายๆที่ ทรัมป์ชนะแฮร์ริส เพราะ สุดกว่า คะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯรอบนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในทุกสนาม รวมทั้งเป็นชัยชนะของพรรคการเมือง รีพับลิกัน ที่มีทั้งเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาล่าง เท่ากับว่าอำนาจการบริหารประเทศสหรัฐฯ อยู่ในกำมือทรัมป์ แบบเด็ดขาด อันที่จริงทรัมป์กับอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีอายุเท่ากันคือ 78 ปี ทรัมป์อาวุโสกว่าไม่กี่เดือน (78 ปี 220 วัน กับ 78 ปี 61 วัน) ความสำคัญของการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯเที่ยวนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า ทรัมป์ หรือ คามาลา แฮร์ริส จะชนะเลือกตั้ง แต่อยู่ที่ว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกใบนี้อย่างไร อันดับแรกเลยคือมาตรการด้านภาษี ที่สหรัฐฯมีนโยบายในการขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าทุกประเทศ อย่างน้อยก็ร้อยละ 10 ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวและหุ้นส่วนทางภูมิรัฐศาสตร์
ถ้าเป็นสินค้าจาก จีน หรืออาจรวมถึงประเทศที่ เป็น หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีน จะมีการขึ้นภาษีศุลกากรกับจีน อย่างน้อยก็ร้อยละ 60 ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ประกาศเอาไว้ชัดเจนจะให้เป็นยุคทองของอเมริกาอย่างแท้จริง ก็ต้องทำให้ได้ ถือว่าเป็นโอกาสที่จะฝากผลงานชิ้นโบแดง ให้เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสหรัฐฯ
มีนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ถ้าสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า ร้อยละ 60 สำหรับสินค้าจากจีนจริง และจีนจะลดผลกระทบโดยการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ไทยหรือประเทศในอาเซียนก็ไม่ได้เต็มร้อยเสมอไป เพราะความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆมีความต้องการลดลง และมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในรายละเอียดของมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนนั้น สหรัฐฯคงไม่ปล่อยให้ซิกแซ็กด้วยวิธีการย้ายฐานการผลิต
รวมทั้งเรื่องนี้ เป็นมาตรการหนึ่งใน สงครามเย็น ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ต่างฝ่ายต่างก็ตั้งป้อมที่จะใช้กำแพงภาษีตอบโต้กันไปมา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็ต้องดูถึงประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าการย้ายฐานการผลิตหรือการไปลงทุนในประเทศอื่น เพราะการดึงเม็ดเงินลงทุนกลับประเทศจะมีประโยชน์กว่า
...
ต้องเข้าใจก่อนว่า การเป็นหุ้นส่วนด้านภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯและจีน นั้น เลือกข้างกันไว้เรียบร้อยแล้ว สหรัฐฯมีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นพันธมิตร จีนมีรัสเซียกับเกาหลีเหนือเป็นพันธมิตรหลัก เพราะฉะนั้นประเทศอื่นๆนอกจากนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์ได้จากประเทศไหนบ้าง
แต่ไหนแต่ไรมา ทั้งจีนและสหรัฐฯก็ไม่ได้มองประเทศในอาเซียนอยู่ในสายตาหลังจากที่การปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายไปแล้ว สงครามเย็นเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ การที่ทั้งสองขั้วไปเปิดสนามรบในยูเครนและตะวันออกกลาง และเปิดแนวรบสงครามเย็นทางเศรษฐกิจในเอเชียและยุโรป ก็เท่ากับกดดันให้มีการเลือกข้างเต็มที่
ประเภทแทงกั๊ก วางตัวเป็นกลาง มีแต่ในโลกของความฝัน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม