การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใน 5 พ.ย. หรือ 6 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นไทย ยังเป็นที่น่าจับตาว่าใครจะเป็นฝ่ายกุมบังเหียนประเทศ ระหว่าง “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต วัย 60 ปี และ “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน วัย 78 ปี ซึ่งจะเริ่มปิดคูหาเพื่อนับคะแนนเสียงในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 6 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นไทย

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 6 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “สงครามการค้า 2.0” (Trade War 2.0) โดยอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าไม่เพียงแค่เรื่องปากท้องของประชาชน ปัญหาผู้อพยพหรือสงครามที่ทวีความรุนแรงเท่านั้นที่จะทำให้ชาวอเมริกันจะหันมาเทคะแนนเสียงให้ฝ่ายใด แต่ยังมีประเด็นที่ชวนคิดคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน” โดยเฉพาะเรื่อง “เศรษฐกิจและการค้า”

ในกรณีนี้จึงมองว่าการที่ทรัมป์จะขึ้นกำแพงภาษีต่อจีน อาจเป็นการทำสงครามการค้ากับจีนอีกครั้ง แม้จะถูกมองว่าระบบเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯไม่สามารถหย่าขาดจากจีนได้ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายยังคงต้องพึ่งพากัน อย่างเช่นอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แต่เมื่อย้อนดูในช่วงที่ทรัมป์ ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ การกดดันจีนให้สั่งซื้อสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้น ก็ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้ากับจีนน้อยลง

นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของทรัมป์ อย่างความต้องการดึงการลงทุนกลับมาที่สหรัฐฯในพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าอย่าง “รัสต์ เบลท์ สเตท” (Rust Belt State) เช่น รัฐเพนซิลเวเนียและรัฐวิสคอนซิน กลับมาสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวสหรัฐฯ อีกครั้งจากแต่เดิมที่โรงงานต่างๆถูกย้ายออกไปยังจีนและเวียดนาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจดึงดูดให้ชาวอเมริกันหันมาเลือกพรรครีพับลิกัน โดยอาจารย์อาร์มยังมองว่าทรัมป์อาจเป็นฝ่ายคว้าชัยก็ได้.

...

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม