กระทรวงบัวแก้วร่อนหนังสือประท้วงอิสราเอล เรียกร้องรัฐบาลยุติการนำแรงงานไทยเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย หลังปล่อยให้นายจ้างนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง เป็นเหตุ 4 แรงงานไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ 1 ราย พร้อมขอเรียกร้องทุกฝ่ายและประชาชนไม่เดินทางไปยังอิสราเอลและภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ไม่ธรรมดา อาจมีการขยายตัวของสงคราม
หลังกรณีเกิดเหตุกองกำลังติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ ยิงจรวดโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ ในพื้นที่ทำเกษตรกรรมใกล้กับเมืองเมตูลา ทางตอนเหนือของอิสราเอล เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 4 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย.นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุยิงจรวดเข้าไปในประเทศอิสราเอล ทำให้แรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 1 รายว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ ตั้งแต่เริ่มมีความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออก กลาง พยายามอย่างยิ่งที่จะชะลอการเดินทางของแรงงานไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าว เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางไม่ใช่สถานการณ์ธรรมดา มีความขัดแย้งรุนแรง ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายและประชาชนไม่เดินทางไปยังประเทศอิสราเอลและภูมิภาค ตะวันออกกลาง
ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุเสียชีวิตของแรงงานไทย สถานทูตได้ประท้วงไปยังหน่วยราชการของอิสราเอล เนื่องจากพื้นที่ที่แรงงานไทยเสียชีวิตนั้น เป็นพื้นที่ที่ทางการอิสราเอลประกาศเป็นพื้นที่ทางทหาร แต่มีความพยายามของนายจ้างชาวอิสราเอล นำแรงงานเข้าไปทำงานเป็นการชั่วคราวระยะสั้น 2-3 ชั่วโมง แม้จะเป็นระยะสั้น แต่ไม่ทราบว่าจะมีการโจมตีเกิดขึ้นเมื่อใด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้รับข่าวร้ายและมีการสูญเสีย ที่สำคัญตนไม่ต้องการเห็นแรงงานไทยเสียชีวิตในภูมิภาคตะวันออกกลางอีก จึงขอให้หน่วยราชการไทยร่วมกันช่วยชะลอการเดินทางเข้าไปทำงานของคนไทยในภูมิภาคดังกล่าว
...
ส่วนการประเมินสถานการณ์ นายมาริษกล่าวว่า สถานการณ์น่าเป็นห่วงแน่นอน กรณีการขยายตัวของสงครามมีแน่นอน แต่คงไม่อยู่ในระดับที่ไม่สามารถ ควบคุมได้ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นหรือมีการปะทะกันเป็นกรณี แต่มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่ไม่ทราบเรื่อง ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จึงใช้กรณีนี้เรียกร้องรัฐบาลอิสราเอลยุติการนำแรงงานไทยเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือพื้นที่ที่อิสราเอลประกาศเป็นพื้นที่ต้องห้าม และตนได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของอิสราเอลแล้ว ในฐานะที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (เอชอาร์ซี) เราจึงมีหน้าที่ต้องแสดงจุดยืนในเรื่องสำคัญ จึงขอให้ช่วยใช้ความยับยั้งชั่งใจ เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวมากยิ่งขึ้น พร้อมขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่จะนำไปสู่การขยายตัวของสงคราม และต้องมานั่งเจรจาเพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้ง บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติเป็นหลัก จุดยืนของไทยคือยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
สำหรับ 4 แรงงานไทยที่เสียชีวิต ประกอบด้วย นายอรรคพล วรรณไสย ภูมิลำเนา จ.อุดรธานี นายประหยัด พิลาสรัมย์ ภูมิลำเนา จ.บุรีรัมย์ นาย กวีศักดิ์ ปาปะนัง และนายธนา ติจันทึก ที่มีภูมิลำเนา จ.นครราชสีมา ทั้งคู่
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครอบครัวของแรงงานไทยทั้ง 4 ต่างทราบข่าวร้ายแล้ว และมีตัวแทนจากจังหวัด พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปให้กำลังใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงแรงงานได้ไปแจ้งสิทธิประโยชน์อันพึงได้ของครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยนายชาญชัย นางจรุง ติจันทึก อายุ 70 ปี และ 76 ปี พ่อแม่ของนายธนา บ้านอยู่ในหมู่ 12 บ้านคลองนาดี ต.กฤษณา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ยังอยู่ในความโศกเศร้า โดยมีเพื่อนบ้านญาติพี่น้องมาให้กำลังใจ ซึ่งนางจรุงกล่าวด้วยเสียงเศร้าสร้อยว่า จุกคอ พูดไม่ออก ทราบข่าวจากลูกสะใภ้ ที่ทำงานอยู่ จ.สมุทรปราการ โทรศัพท์มาบอก รู้สึกเสียใจแทบทรุดเพราะเป็นลูกคนเล็กด้วย เพิ่งไปทำงานไม่ถึง 2 ปี ครั้งแรกไป 11 เดือนก็กลับ ครั้งที่สองนี้ไป 11 เดือน ก็มาเสียชีวิต ขณะที่นายชาญชัยผู้เป็นพ่อ เปิดเผยว่า เสียใจมาก อยากจะได้ศพมาดำเนินการตามประเพณีเร็วๆ เสียใจจนบอกไม่ถูก ขอบคุณหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจ และจะให้ความช่วยเหลือ
ด้านนางนันทนา ภู่วิบูลย์พาณิชย์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ ประกันสังคมจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง กล่าวว่า นายธนาผู้ตาย เคยเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ทายาทจะได้รับเงินเป็นบำเหน็จชราภาพ ประมาณ 4 หมื่นบาท ซึ่งจะดำเนินการให้กับทายาทต่อไป