การเลือกตั้งสหรัฐ อเมริกา 2024 กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ โดยมีกำหนดเปิดหีบตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 5 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย ขณะที่ ช่วงเช้าวันที่ 6 พ.ย. ก็จะเริ่มเห็นทิศทางการนับคะแนน
เพื่อชี้วัดว่า รัฐต่างๆของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนผู้สมัครคนใด ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และ “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต
รวบรวมคะแนนว่าใครจะครอบครองเสียง “คณะผู้เลือกตั้ง” ได้ถึงเกณฑ์ 270 เสียงจากทั้งหมด 538 เสียง และกลายเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระบบที่สร้างสมดุลระหว่างคะแนนเสียงที่มาจากประชาชน และการออกเสียงโดยสภาคองเกรส โดยหลังผู้มีสิทธิออกเสียงกาบัตรเลือกตั้งผู้นำ คะแนนเสียงของประชาชนที่มีสิทธิจะถูกนำมารวมกันภายในรัฐ
ใน 48 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด จะได้รับคะแนน “คณะผู้เลือกตั้ง” ทั้งหมดของรัฐนั้นๆ ในขณะที่จำนวนคณะผู้เลือกตั้งของ “รัฐเมน” และ “รัฐเนบราสกา” จะเป็นไปตามสัดส่วนจากคะแนนเสียง
ของประชาชน
ซึ่งเรียกกันว่าระบบ “ชนะกินรวบ” วินเนอร์ เทค ออล ยกตัวอย่างรัฐเพนซิลเวเนีย มีคณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง หากคะแนนดิบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า ก็จะเท่ากับว่าพรรคนั้นได้ไปทั้งหมด 19 เสียง ไม่จำเป็นต้องเอาคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง มาหารแบ่งกันตามสัดส่วนของคะแนนดิบ
ทำให้หลายต่อหลายครั้ง ผู้สมัครที่ได้คะแนนดิบทั่วประเทศหรือ ป๊อปปูลาร์ โหวต มากที่สุด พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ เพราะอย่างในบางรัฐมีประชาชนแห่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายคณะผู้เลือกตั้งในรัฐดังกล่าว มีจำนวนเสียงแค่ 1-3 เสียง
...
ขณะที่รัฐใหญ่ๆอย่างแคลิฟอร์เนีย (54 เสียง) หรือเท็กซัส (40 เสียง) ถึงคนจะมาใช้สิทธิน้อย แต่ผู้ชนะก็จะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปเป็นกอบเป็นกำ
ด้วยเหตุนี้ การประเมินทิศทางคะแนนนิยมในรัฐต่างๆจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และทำให้รัฐ “สวิงสเตท” หรือรัฐที่คะแนนนิยมของทั้งสองฝ่ายไม่ชัดเจน กลายเป็นสนามประลองของผู้สมัครชิงตำแหน่ง เหมือนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านๆมา จะเห็นได้ว่าทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างพยายามเดินสายหาเสียงอย่างหนักในสวิงสเตท
ซึ่งปีนี้ประกอบไปด้วย 7 รัฐคือ เนวาดา อริโซนา วิสคอนซิน มิชิแกน จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลนา และเพนซิลเวเนีย รวมคณะผู้เลือกตั้งใน 7 รัฐทั้งหมดนี้เท่ากับ 93 เสียง
และหากวัดจากผลโพลการเลือกตั้งสหรัฐฯในรัฐต่างๆแล้ว เท่ากับว่าคามาลา แฮร์ริส ครอบครองเสียงคณะผู้เลือกตั้งไปแล้วอย่างมากที่สุด 226 เสียง หลังมีฐานที่มั่นในรัฐสำคัญอาทิ แคลิฟอร์เนีย (54) นิวยอร์ก (28) อิลลินอยส์ (19) เวอร์จิเนีย (13) วอชิงตัน (12) แมสซาชูเสตต์ (11) โคโลราโด (10) ยังขาดอีก 44 เสียงถึงจะชนะการเลือกตั้งในปีนี้
ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ครอบครองเสียงคณะผู้เลือกตั้งไปแล้วอย่างมากที่สุด 219 เสียง หลังมีฐานที่มั่นในภาคกลางและภาคใต้ เช่น เท็กซัส (40) ฟลอริดา (30) โอไฮโอ (17) อินเดียนา (11) เทนเนสซี (11) มอนตานา (10) อลาบามา (9) เซาท์แคโรไลนา (9) ยังขาดเสียงอีก 51 เสียงถึงจะคว้าชัย
ทั้งหมดนี้เท่ากับว่าคะแนนคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐสวิงสเตท ถือเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเพนซิลเวเนียมีคณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง นอร์ทแคโรไลนา 16 เสียง จอร์เจีย 16 เสียง มิชิแกน 15 เสียง อริโซนา 11 เสียง วิสคอนซิน 10 เสียง และเนวาดา 6 เสียง รวมทั้งหมด 93 เสียง
อย่างไรก็ตาม หากวัดจากผลโพลหลายสำนัก ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ รัฐตัวแปรที่กำลังเอียงไปทางแฮร์ริสประกอบด้วยมิชิแกน (นำ 1.7%) วิสคอนซิน (นำ 0.7%) เท่ากับว่าคะแนนของขั้วเดโมแครตจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 251 เสียง ส่วนรัฐที่เอียงไปทางทรัมป์ประกอบด้วย เพนซิลเวเนีย (นำ
0.6%) นอร์ทแคโรไลนา (นำ 1.3%) จอร์เจีย (นำ 2%) อริโซนา (นำ 1.8%) เนวาดา (นำ 0.4%) หมายความว่าคะแนนของขั้วรีพับลิกันจะขยับเป็น 287 เสียง
เห็นได้เลยว่าคะแนนคณะผู้เลือกตั้งของฝ่ายใดที่เกินเกณฑ์ 270 เสียง แต่แน่นอนว่าผลโพลคู่คี่ในระดับนี้ ถือเป็นเรื่องที่ฟันธงยากมากว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปอย่างเที่ยงตรงตามผลสำรวจความนิยม จำเป็นต้องรอผลสรุปอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ที่จะมีการประกาศ “ตัวเต็ง” ผู้ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
แต่หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งตามเกณฑ์ 270 เสียง ก็จะมีแผนสำรองบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯเช่นกัน โดยสภาผู้แทนราษฎรจะจัดประชุมโดยเร็วที่สุดเพื่อออกเสียงเลือกประธานาธิบดีจากผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 3 คนแรก (รีพับลิกัน–เดโมแครต–อิสระ)
และวุฒิสภาจะเลือกรองประธานาธิบดีจากผู้สมัครที่เหลือ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดเพียง 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ชนชาติอเมริกัน คือปี 2344 ปี 2368 และปี 2380 หรือเมื่อเกือบ 200 ปีมาแล้ว ซึ่งคงยากอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน.
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม