กระทรวงต่างประเทศ ได้เสนอ ครม. ขอความเห็นชอบ การเข้าเป็น สมาชิกกลุ่ม BRICS หรือกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ให้เหตุผลว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับประเทศไทยในเวทีโลก เป็นการร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ที่จะมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหาร และด้านพลังงาน และยังเป็นการเปิดตลาดใหม่ โดยกลุ่ม BRICS แบ่งเป็นความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคงระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม

อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ระหว่างประเทศตะวันตกกับรัสเซีย และการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างประเทศตะวันตกกับจีน มีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งประเทศตะวันตกและพันธมิตรมีแนวโน้มในการต่อต้านนโยบายของรัสเซียและจีน ซึ่งทั้งสองประเทศมีอิทธิพลต่อความร่วมมือในกลุ่ม BRICS ที่กระทรวงต่างประเทศอ้างเหตุผลบนหลักการทางการทูตอย่างสมดุลและยืดหยุ่น ในภาวะการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

ในขณะที่สงครามเย็นระหว่าง สหรัฐฯกับพันธมิตร ในภูมิภาคนี้ ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ กับ จีน ที่ประกอบด้วย รัสเซีย และ เกาหลีเหนือ กำลังฉายภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน กรณีที่ระบุว่ามีทหารเกาหลีเหนือไปช่วยรบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น หรือสงครามในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน มีข้อสังเกตว่า จีนและรัสเซีย ก็เริ่มเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น ถึงรัสเซียกับอิหร่านไม่ได้ประกาศเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ยืนยันจากการพบปะเจรจาระหว่าง ปูติน กับ เปเซชกียาน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และอิหร่านก็เป็นพันธมิตรที่ดีของรัสเซียในกรณีการทำสงครามกับยูเครนเช่นกัน

...

ส่วนจีนเองยังพยายามทำตัวเป็นพี่ใหญ่ ไม่แสดงความชัดเจนว่าจะเข้าข้างอิสราเอลหรืออิหร่าน แต่ภาพที่ปรากฏการเข้าพบกับผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งจีน ก็พอจะรู้แนวทางยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางของจีนได้

ที่ต้องจับตาในประเทศกลุ่ม BRICS อีกประเทศก็คืออินเดีย หลังสงครามเย็นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นการกดดันให้มีการแบ่งขั้วอำนาจให้ชัดเจน ซึ่งจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกจากนโยบายการค้าของ แต่ละฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อินเดียพยายามสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอาศัยความขัดแย้งดังกล่าว ปรากฏว่า มีผลลัพธ์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากอินเดียไม่ถึง 1% แต่เวียดนามได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 1.7% พอๆกับไต้หวัน และเกาหลีใต้ ส่วนจากจีน มีการนำเข้าสินค้าจากอินเดียลดลงด้วยซ้ำ พิสูจน์ว่าในยุคนี้การวางตัวเป็นกลางไม่ได้ช่วยอะไรเลย นอกจากจะตัดสินใจเลือกข้าง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม