- ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น 465 ที่นั่ง ปรากฏว่า พรรคแอลดีพีและพรรคโคเมอิโตะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้ที่นั่งรวมกันเพียง 215 ที่นั่ง ลดลงจาก 279 ที่นั่งในสภาชุดก่อน และไม่ถึง 233 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่จะได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นหรือซีดีพีเจ คว้าเก้าอี้เพิ่มขึ้นจาก 98 ที่นั่งเป็น 148 ที่นั่ง
- การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเงินทุนทางการเมืองที่ถูกเปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมาชิกรัฐสภาระดับสูงและสมาชิกคณะรัฐมนตรีจากพรรคแอลดีพี ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคได้รับความเสียหายและทำให้ประชาชนไม่พอใจ
- ญี่ปุ่นมักถูกมองว่าเป็นประภาคารแห่งเสถียรภาพทางการเมือง เป็นที่หลบภัยสำหรับนักลงทุน และเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เผชิญความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ความไม่แน่นอนจึงไม่เพียงแต่สร้างความกังวลให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านและชาติพันธมิตรด้วย
การเลือกตั้งของญี่ปุ่นโดยปกติจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและน่าเบื่อ แต่การเลือกตั้งกะทันหันครั้งนี้ไม่ใช่เช่นนั้น
พรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น (แอลดีพี) และพันธมิตรร่วมรัฐบาลที่ครองอำนาจ ต้องสูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไปเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น 465 ที่นั่ง ปรากฏว่า พรรคแอลดีพีและพรรคโคเมอิโตะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้ที่นั่งรวมกันเพียง 215 ที่นั่ง ลดลงจาก 279 ที่นั่งในสภาชุดก่อน และไม่ถึง 233 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่จะได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ซีดีพี) คว้าเก้าอี้เพิ่มขึ้นจาก 98 ที่นั่งเป็น 148 ที่นั่ง
...
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเงินทุนทางการเมืองที่ถูกเปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมาชิกรัฐสภาระดับสูงและสมาชิกคณะรัฐมนตรีจากพรรคแอลดีพี ที่เป็นพรรครัฐบาล ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคได้รับความเสียหายและทำให้ประชาชนไม่พอใจ
มันคือความหายนะอย่างสมบูรณ์แบบ โดยสมาชิกรัฐสภาของพรรคแอลดีพีหลายสิบคน ถูกสอบสวนกรณียักยอกเงินรายได้จากการหาทุนทางการเมืองเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ ขณะที่ประชาชนยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าที่สูง ค่าจ้างที่หยุดนิ่ง และเศรษฐกิจที่ซบเซา
ในท้ายที่สุด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่โกรธแค้นและเบื่อหน่าย ได้ส่งข้อความที่ชัดเจนในการลงคะแนนเสียงเมื่อวันอาทิตย์ ด้วยการลงโทษพรรคแอลดีพี ในคูหาเลือกตั้ง และนับเป็นการโลงโทษที่น่าตกตะลึง เนื่องจากพรรคที่ปกครองญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1955 ต้องสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม ไม่มีฝ่ายใดชนะการเลือกตั้งอย่างชัดเจนเช่นกัน เนื่องจากฝ่ายค้านที่เผชิญความแตกแยก ไม่สามารถหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมได้
แม้ว่าพรรคแอลดีพีจะบอบช้ำอย่างหนัก แต่ก็ยังสามารถคว้าชัยชนะได้มากกว่าพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดอย่างพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตยญี่ปุ่น โดยคะแนนสุดท้ายอยู่ที่ 148 ที่นั่ง
เจฟฟรีย์ ฮอลล์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์ะหว่างประเทศคันดะ กล่าวว่า "การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เบื่อหน่ายพรรคและนักการเมืองที่พวกเขามองว่าทุจริตและสกปรก แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งที่พวกเขาต้องการผู้นำคนใหม่"
ขณะที่ชะตากรรมของผู้นำชุดเก่าก็ยังคงไม่ชัดเจน พรรคร่วมรัฐบาลของพรรคแอลดีพี ไม่สามารถคว้าชัยชนะได้ครึ่งหนึ่ง โดยได้ที่นั่ง 233 ที่นั่งจากสภาที่มีสมาชิก 465 คน หลังจากที่พรรคพันธมิตรอย่างพรรคโคเมอิโตะ เสียที่นั่งไปหลายที่นั่ง รวมถึงที่นั่งของหัวหน้าพรรคด้วย และแม้ว่าพรรคโคเมอิโตะจะได้ที่นั่ง 24 ที่นั่ง แต่พรรคแอลดีพีก็ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้
นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ซึ่งเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนนี้ หลังจากชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอย่างสูสี กล่าวว่า "เป็นการตัดสินที่ร้ายแรง" เขากล่าวขณะที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าให้พรรคแอลดีพีได้สะท้อนและเป็นพรรคที่ปฏิบัติตามเจตจำนงของประชาชน
ความหวังก็คือนายอิชิบะในฐานะผู้นำ อาจสามารถช่วยพรรคแอลดีพีไว้ได้ เนื่องจากความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นและคะแนนนิยมที่ตกต่ำ ทำให้นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนก่อนต้องออกจากตำแหน่ง แต่ถึงกระนั้น อิชิบะก็ยังเผชิญความเสี่ยง เมื่อเขาประกาศการเลือกตั้งกะทันหันเมื่อไม่ถึงเดือนก่อน และผลการเลือกตั้งก็กลับตาลปัตร
ทั้งเขาและพรรคต่างก็ประเมินระดับความโกรธแค้นของประชาชนต่ำเกินไป และที่สำคัญคือเจตนาของประชาชนจะดำเนินการตามนั้น
เพื่อรักษาอำนาจไว้ พรรคแอลดีพีจะต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่พรรคต่อสู้ด้วยในการเลือกตั้ง และพรรคจะดำเนินการดังกล่าวจากจุดยืนที่มีความอ่อนแออย่างมาก เนื่องจากต้องเจรจาและประนีประนอมเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เนื่องจากพรรค แอลดีพีมีสถานะที่ปลอดภัยและมั่นคงในวงการการเมืองของญี่ปุ่นมาโดยตลอด และพรรคเองก็มีประวัติการบริหารงานที่แข็งแกร่ง เมื่อพรรคฝ่ายค้านขึ้นเป็นรัฐบาลในปี 1993 และ 2009 และพรรคก็จบลงไม่สวยนัก
ตั้งแต่พรรคแอลดีพีกลับมามีอำนาจในปี 2012 พรรคสามารถชนะการเลือกตั้งทุกครั้งโดยแทบไม่มีคู่แข่ง และไม่ว่าจะมีการลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมากี่ครั้ง ฝ่ายค้านยังคงไม่สามารถโน้มน้าวใจชาวญี่ปุ่นได้
มิยูกิ ฟูจิซากิ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัย 66 ปี กล่าวก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วันว่า "ฉันคิดว่าพวกเรา (ชาวญี่ปุ่น) มีความอนุรักษนิยมมาก เป็นเรื่องยากมากสำหรับเราที่จะท้าทายและสร้างการเปลี่ยนแปลง และเมื่อพรรครัฐบาลเปลี่ยนพรรค และฝ่ายค้านเข้ามามีอำนาจ สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย นั่นคือเหตุผลที่เรามักจะยึดมั่นในแนวทางอนุรักษนิยม"
...
นางฟูจิซากิกล่าวว่า ในตอนแรกเธอไม่แน่ใจว่าจะลงคะแนนให้ใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวในการระดมทุนของพรรคแอลดีพี แต่เนื่องจากเธอเคยโหวตให้พรรคนี้มาโดยตลอด เธอจึงบอกว่าคราวนี้เธออาจจะโหวตให้แอลดีพีเหมือนเดิม
แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคซีดีพี จะได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการสนับสนุนฝ่ายค้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องความโกรธแค้นที่มีต่อพรรคแอลดีพี
ฮอลล์กล่าวว่า แม้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการให้นักการเมืองของตนแสดงความรับผิดชอบ แต่ในใจของพวกเขาไม่มีใครอีกแล้ว ที่พวกเขาไว้วางใจให้เป็นผู้นำประเทศ
และสิ่งที่ยังคงเหลือให้ญี่ปุ่นก็คือ พรรคแอลดีพีที่อ่อนแอลงและฝ่ายค้านที่กำลังแตกแยก
ญี่ปุ่นมักถูกมองว่าเป็นประภาคารแห่งเสถียรภาพทางการเมือง เป็นที่หลบภัยสำหรับนักลงทุน และเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เผชิญความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ความไม่แน่นอนจึงไม่เพียงแต่สร้างความกังวลให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านและชาติพันธมิตรด้วย
ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นเอง รัฐบาลผสมที่มีความไม่มั่นคง จะไม่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มค่าจ้าง และปรับปรุงสวัสดิการให้กับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และภารกิจในการกอบกู้ความไว้วางใจและความเคารพจากประชาชนที่เบื่อหน่ายกับการเมืองกลับคืนมาจะยากกว่านั้นอีก
พรรคแอลดีพี บริหารประเทศมาเกือบทั้งช่วงหลังสงครามของญี่ปุ่น ยังมีช่วงเวลาที่พรรคต้องสูญเสียอำนาจหรือต้องพึ่งพาพรรคอื่นเช่นกัน
1983
แม้จะมีการสำรวจความคิดเห็นว่าพรรคจะชนะการเลือกตั้งได้อย่างสบายๆ แต่แอลดีพียังได้เสียงข้างมากน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด เพื่อรักษาอำนาจไว้ พรรคจึงได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับ New Liberal Club ซึ่งเป็นพรรคที่แยกตัวออกมาจาก แอลดีพี ในปี 1976
...
ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 1986 ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้เข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งแรกหลังจากทำงานด้านธนาคารมาได้ไม่นาน
1993
พรรค LDP เผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้จากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต จึงไม่ได้เสียงข้างมากอีกครั้ง แม้ว่าจะคว้าที่นั่งได้มากที่สุด แต่พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค รวมทั้ง 2 พรรคที่แยกตัวออกจากแอลดีพีก่อนการลงคะแนนเสียง ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมและขับไล่แอลดีพีออกจากอำนาจเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1955
ความขัดแย้งกันภายในนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำติดต่อกัน และรัฐบาลผสมก็ล่มสลายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี
2000
6 เดือนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีเคอิโซ โอบุจิ จาก แอลดีพีป่วยเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้โยชิโระ โมริ ซึ่งเป็นบุคคลที่มักกระทำข้อผิดพลาด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนเขา และทำให้ความนิยมของพรรคลดลงก่อนการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่แอลดีพีจับมือกับพรรคโคเมโตะที่เพิ่งก่อตั้ง และเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มฆราวาสชาวพุทธจำนวนมาก แอลดีพีต้องอาศัยที่นั่งของพรรคโคเมโตะเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ ทั้งสองพรรคได้ปกครองประเทศมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยกเว้นช่วงสั้นๆ ที่สูญเสียอำนาจในปี 2009
2009
พรรคประชาธิปไตยสามารถเอาชนะพรรครัฐบาลผสมอย่างถล่มทลายในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก แต่การจัดการที่ผิดพลาดของพรรคฯ ต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 ที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับความเสียหายและเหตุการณ์อื่นๆ ทำให้พรรคแอลดีพีกลับมามีอำนาจอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2012
พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชนยุบพรรคในปี 2016 ขณะที่พรรคที่เหลือกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในปัจจุบัน คือพรรคประชาธิปไตยแห่งประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ก่อตั้งเป็นพรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชนในปัจจุบัน.
...
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign