เมื่อสัปดาห์ก่อนมีประเด็นที่น่าสนใจ จากการเสด็จเยือนหมู่เกาะแปซิฟิกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษ หลังพระองค์ทรงเสวย เครื่องดื่มท้องถิ่นที่เรียกขานว่า “คาวา”

โดยงานนี้ภาพข่าวที่ปรากฏออกมาได้แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงทอดพระเนตรจับจ้องคิงชาร์ลส์อย่างใกล้ชิดระหว่างการเสวย ซึ่งเป็นไปได้ว่าไม่มั่นใจว่าจะมีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากคิงชาร์ลส์มีพระชนมายุ 75 พรรษา อีกทั้งเครื่องดื่มดังกล่าวเคยเป็น ประเด็นมาแล้วเมื่อปี 2565 หลังจากทำให้นายไมเคิล แม็คคอร์แม็ค รองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียถูกหามส่งโรงพยาบาล

จนกลายเป็นที่มาว่าเครื่องดื่มชนิดนี้มีที่มาที่ไปเช่นไร ซึ่งจากข้อมูลที่ถูกนำมาเปิดเผยระบุว่า คาวาเป็นเครื่องดื่มพื้นบ้านของชาวหมู่เกาะแปซิฟิก ลักษณะเป็นน้ำขุ่นสีน้ำตาล มีรสชาติเผ็ดเหมือนพริกไทย ต้นกำเนิดเชื่อว่ามาจากเกาะวานูอาตู ก่อนแพร่ขยายพันธุ์ไปตามหมู่เกาะต่างๆในมหาสมุทรแปซิฟิก

คาวา ทำจากรากของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไพเพอร์ เมธิสติกัม  นำมาล้างตากแห้ง ก่อนนำมาบดให้เป็นผงและผสมกับน้ำ กรองด้วยผ้าขาว หรือในกรณีของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ใช้วิธีดั้งเดิมคือกรองด้วยตะแกรงที่ทำจากเปลือกไม้แห้ง ซึ่งความเข้มข้นหรือเจือจางขึ้นอยู่กับว่าจะผสมน้ำมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวล และเคยส่งผลให้รองผู้นำออสเตรเลียเข้าโรงพยาบาล เนื่องมาจากคาวามีสารออกฤทธิ์ทางประสาทแบบอ่อน(ถูกแบนในสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย) และผลข้างเคียงระยะสั้นคือ ช่วยทำให้ผ่อนคลาย จิตใจสงบ หรือในบางกรณีคือ “เมา” ความสามารถในการรับรู้ลดน้อยลง ไปจนถึงเกิดอาการชาปากเล็กน้อย แต่ถ้าบริโภคในปริมาณมากก็มีสิทธิที่จะวิงเวียน ตาแดงฉ่ำ นอนมึนไม่ไหวติง

...

สำหรับพิธีกรรมทางวัฒนธรรม   คาวา จะถูกเทใส่กะลามะพร้าวขัดมัน และดื่มแบบรวดเดียวหมดถ้วย ซึ่งครั้งนี้ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงได้รับการสถาปนา เป็น “หัวหน้าเผ่า” ของชาวหมู่เกาะซามัว พระองค์ทรงปฏิบัติตามธรรมเนียมได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แถมมีรายงานด้วยว่า พระองค์มีความชื่นชอบและดื่มด่ำกับรสชาติ ของเครื่องดื่มชนิดนี้ แม้ว่าพระมเหสีที่ประทับอยู่เคียงข้าง จะดูเป็นห่วงอย่างเห็น ได้ชัด.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม