เมื่อ 15 ปีก่อนสมัยเข้าวงการสื่อสารมวลชนใหม่ๆ ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่อาวุโสในกอง บก.ไว้ว่าให้จับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มความร่วมมือบราซิล-รัสเซีย-อินเดีย-จีน ให้ดีๆ ภายภาคหน้าจะส่งผลต่อการเมืองโลกอย่างมีนัยสำคัญ

มาวันนี้คำพูดดังกล่าวก็ไม่ผิดเพี้ยนไปแต่อย่างใด นับจากปี 2552 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มความร่วมมือดังกล่าวได้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่ากลุ่ม BRICS-บริกส์ ย่อมาจากตัวอักษรขึ้นต้นของประเทศสมาชิกประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ (เข้าร่วม 1 ปีหลังก่อตั้ง) พร้อมปรับจำนวนสมาชิกจากแรกเริ่ม 4 ประเทศ ให้กลายเป็น 9 ประเทศ โดยมีสมาชิกใหม่คืออิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แถมไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ที่เมืองคาซานของรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-24 ต.ค.) ได้มีการเปิดขยาย “ชาติหุ้นส่วน” อีก 13 ประเทศ ประกอบด้วยคิวบา โบลิเวีย แอลจีเรีย ไนจีเรีย อูกันดา เบลารุส ตุรกี คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายผนึกกำลังสร้างผลประโยชน์ร่วมทางการค้า และขยายความร่วมมือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในลักษณะเดียวกับกลุ่มความร่วมมือระดับใหญ่อย่างกลุ่ม G7 ที่ประกอบด้วยชาติสมาชิกอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น โดยจากการประมาณการนั้น พลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์ในตอนนี้คิดเป็น 32% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกรวมกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองโลกที่เข้าสู่ยุคสงครามเย็นครั้งใหม่เป็นที่เรียบร้อย ได้ทำให้เห็นชัดเจนแล้วว่า กลุ่มบริกส์จะไม่จบแค่กลุ่มความร่วมมือค้าขาย แต่จะเป็นกลุ่มที่จะมาเปลี่ยนแปลงกลไกของโลก และย่อมก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างขั้วอำนาจ เพื่อการสร้าง “ระเบียบโลกใหม่” (New World Order) ภายใต้มุมมองว่า นับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา “ชาติตะวันตก” คือผู้ชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมชาติอื่นๆทั่วโลก หากใครไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติ ก็ย่อมถูกเหยียบให้จมดิน ล็อกประเทศนั้นอยู่ในสถานะ “โลกที่ 3” เป็นชาติที่ยังไม่เจริญ ยากที่จะลืมตาอ้าปากแม้จะพยายามมากมายเช่นไร

...

สิ่งที่ประจักษ์ในเรื่องนี้ คือ “ปฏิญญาคาซาน” หรือแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมบริกส์วันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ทิศทางในอนาคตของบริกส์จะเป็นเช่นไร โดยประการแรก คือจุดยืนการตั้งขั้วอำนาจใหม่ กลุ่มบริกส์จะให้การส่งเสริมระเบียบโลกแบบหลายขั้ว หมายถึงการที่ทุกประเทศมีสิทธิมีเสียงในเวทีโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับชาติที่ต้องการเติบโต มากกว่าระเบียบที่ถูกควบคุมโดยชาติตะวันตก

กลุ่มบริกส์สนับสนุนการเติบโตทางอิทธิพลขององค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแอฟริกัน (AU) หรือองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มสำคัญให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางความมั่นคง และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาติสมาชิก ไปจนถึงสนับสนุนการขยายคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อให้ประเทศซีกโลกใต้มีตัวตนเพิ่มมากขึ้น

ประการที่สอง กลุ่มบริกส์ขอเน้นย้ำความสำคัญของการที่ประเทศต่างๆหาหนทางในการพัฒนาประเทศด้วยตัวเอง และสามารถตัดสินใจเรื่องภายในประเทศโดยไม่ถูกแทรกแซงจากต่างชาติ บริกส์เห็นชอบในจุดยืนของหลายประเทศจากซีกโลกใต้ที่ต้องการเป็นหุ้นส่วนกับบริกส์ แต่ไม่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก

ประการที่สาม กลุ่มบริกส์ขอประณามนโยบาย “คว่ำบาตร” แบบคิดเองเออเอง ซึ่งจากที่ผ่านมา เห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศ เป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไปจนถึงสร้างความยากลำบากแก่คนยากจนและคนกลุ่มเปราะบางในประเทศที่ถูกคว่ำบาตร ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษชน บริกส์ ในฐานะกลุ่มประเทศผู้ผลิตสินค้าและทรัพยากรทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก ขอเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือ และพร้อมที่จะตอบสนองร่วมกัน ต่อต้านนโยบายที่มาจากการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว

ประการที่สี่ กลุ่มบริกส์เล็งเห็นถึงผลประโยชน์จากการใช้ระบบธุรกรรมการเงินข้ามพรมแดนที่โปร่งใส ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ (จากกรณีที่รัสเซียถูกกีดกันออกจากระบบ SWIFT) พร้อมเปิดรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างชาติสมาชิก ขอเรียกร้องให้มีการจัดตั้งโครงการจ่ายเงินข้ามพรมแดนบริกส์ และขอสนับสนุนให้ธนาคารใช้เงินสกุลท้องถิ่นอัดฉีดโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ

ส่วนประการที่ห้าและประการที่หก ในประเด็นของสงคราม-สถานการณ์ความขัดแย้ง กลุ่มบริกส์ย้ำความสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงโลก ผ่านกระบวนการทางการทูต การเจรจาไกล่เกลี่ยแบบครอบคลุมทุกฝ่าย บริกส์มีความกังวลต่อวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในดินแดนปาเลสไตน์ โดยเฉพาะในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นผลจากปฏิบัติการรุกของกองทัพอิสราเอล ขอเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันในทันที ขอให้อิสราเอลถอนกำลังจากกาซา เช่นเดียวกับประเด็นยูเครน กลุ่มบริกส์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายควรปฏิบัติตามครรลองของหลักการสหประชาชาติ หาทางออกอย่างสันติผ่านการเจรจาและกระบวนการทางการทูต

แม้แถลงดังกล่าวจะยังไม่ไปแตะเรื่องการหาสิ่งมาแทนที่ “เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ” ในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยนของโลก แต่จุดยืนในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าการให้สิทธิให้เสียง การต่อต้านนโยบายคว่ำบาตร หรือการค้าขายโดยใช้สกุลเงินของชาติคู่ค้า ก็ไม่ต่างอะไรกับการแสดงความไม่พอใจต่อกลไกของโลกในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าตามกงล้อของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความเก็บกดที่ถูกสุมไว้ ย่อมนำไปสู่การ “ลงมือ” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม

...