ถูกติดป้ายว่าเป็น “ผู้หญิงวัยทอง” ทันทีที่เข้าวัยใกล้หมดประจำเดือน และมักถูกมองว่าอาการทุกข์ทรมานจากวัยหมดเมนส์ เป็นแค่เรื่องวิตกจริตคิดมากไปเอง ในเมื่อเหี่ยว, อ้วน, โทรม และหมดคุณค่าแล้ว ก็ควรอยู่บ้านเลี้ยงหลาน หรือไม่ก็เข้าวัดสงบจิตสงบใจ

เจ็บจี๊ดกับทัศนคติของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ที่กดหญิงสูงวัยว่าแก่หมดประโยชน์แล้ว “พญ.เจ็น กันเทอร์” สูตินารีแพทย์เฟมินิสต์ตัวแม่ จึงออกมาต่อสู้ฟาดฟันกับข้อมูลที่มั่วซั่วเกี่ยวกับผู้หญิง โดยคุณหมอเชื่อว่าความรู้ที่ถูกต้องคืออาวุธทรงพลังที่สุดสำหรับผู้หญิงที่จะสามารถเป็นตัวของตัวเอง แล้วสลัดหลุดจากกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ ที่กดทับผู้หญิงมายาวนานหลายศตวรรษ

“คุณหมอกันเทอร์” ลุกขึ้นเขียนหนังสือ “The Menopause Manifesto” หมดเมนส์แล้วไง เตรียมตัวไว้ก่อนวัย 30 เพื่อหักล้างทุกทัศนคติบิดเบือนเกี่ยวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และบอกทุกเรื่องที่ต้องรู้ ตั้งแต่อาการก่อนวัยหมดประจำเดือน, อาการใกล้วัยหมดประจำเดือน ไปจนถึงโรคและความผิดปกติ ซึ่งสัมพันธ์ กับวัยหมดเมนส์ เช่น ร้อนวูบวาบ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคนอนไม่หลับ, ภาวะซึมเศร้า, ผิวแห้ง, ผมบาง, ผมร่วง, เอวหนา, น้ำหนัก ตัวเพิ่ม, มวลกล้ามเนื้อหดหาย, ปัญหาสุขภาพอวัยวะเพศและเซ็กซ์

ด้วยความที่คุณหมอเขียนหนังสือเล่มนี้ในวัยใกล้หมดเมนส์ และกำลังมีอาการร้อนวูบวาบอย่างรุนแรง จึงเข้าใจถึงหัวอกของผู้หญิงวัยทองด้วยกัน ที่ต้องอัดอั้นตันใจจากการรับมือกับสภาวะทุกข์ทรมานครั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นวัยเจริญพันธุ์กลับด้าน

แม้วัยหมดประจำเดือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50-52 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวัยหมดประจำ เดือนสามารถส่งผลต่อเนื่องทางชีววิทยา ซึ่งอาจทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกเครียดและมีปัญหาสุขภาพ น่าเสียดายที่ผู้หญิงจำนวนมากเลือกเก็บงำความทุกข์ทรมานเหล่านี้ไว้กับตัวเอง เพราะกลัวถูกมองว่าแก่ หรือด้อยประสิทธิภาพ

จนถึงปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการวัยทอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หรือข้อควรระวังทางการแพทย์ และทางเลือกในการรักษาอาการทุกข์ทรมานต่างๆ ซ้ำร้ายแพทย์ส่วนใหญ่ไม่สนใจอาการผิดปกติและปัญหาสุขภาพที่สัมพันธ์กับวัยหมดเมนส์ เพราะเชื่อว่าผู้หญิงวิตกจริตไปเอง และเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นผู้หญิงที่ต้องอดทนให้ได้

ความแปรปรวนของฮอร์โมน ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วัยหมดประจำเดือน สามารถกระตุ้นอาการผิดปกติได้หลายอย่าง ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิง แต่สิ่งที่ผู้หญิงควรค้นหาคำตอบให้เจอคืออาการผิดปกติเหล่านั้นเป็นอาการแสดงของโรคร้ายที่สัมพันธ์กับความสูงวัย หรือเป็นแค่อาการน่ารำคาญที่ไม่อันตรายในช่วงเปลี่ยนผ่านของวัย

หนึ่งในสัญญาณบ่งชี้ชัดถึงความร่วงโรยของวัย คือการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ที่ทำให้การเผาผลาญพลังงานเชื่องช้าลง กล้ามเนื้อเป็นแหล่งพลังงานหลัก เมื่อมวลกล้ามเนื้อลดลงแต่ร่างกายรับแคลอรีเข้ามาในปริมาณเท่าเดิม อาการไม่สมดุลสวิงไปสวิงมาจึงเกิดขึ้น แถมการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อยังสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน เพราะร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้หิวมากขึ้น, กินจุขึ้น, น้ำหนักตัวมากขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน, ภาวะกระดูกพรุน และอาการบาดเจ็บต่างๆจากการลื่นล้ม

ก็เพราะกล้ามเนื้อคือกุญแจสำคัญที่ทำให้เรามีกำลังวังชาและสามารถเคลื่อนไหวได้ตามใจอิสระเหมือนตอนสาวๆ คุณหมอแนะนำว่า ถ้าไม่อยากแก่หรือดูแก่เกินวัยจะต้องออกกำลังกายสะสมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อชะลอการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และถึงแม้อายุเข้าวัยหมดเมนส์ การออกกำลังกายก็ยังเป็นวิธีชะลอการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อที่ดีที่สุดและอาจช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อบางส่วน พร้อมกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมกล้ามเนื้อและสร้างเซลล์กล้ามเนื้อใหม่ขึ้นมาทดแทน ที่แน่ๆการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรควัยทองได้สารพัด ทั้งโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง และภาวะสมองเสื่อม สูงวัยทำได้หมดทั้งเต้นแอโรบิก, ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ, ยกดัมเบลสร้างกล้ามเนื้อหน้าแขน และฝึกการทรงตัว

...

ชีวิตเพิ่งเริ่มต้นเมื่อวัยหมดเมนส์!! ให้โอกาสตัวเองกลับมาเป็นคนใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม สดใสกว่าเดิม และมีพลังมากกว่าเดิม.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม