4 ชาติอาเซียนรวม ไทย กับอีก 9 ประเทศ เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS คาดว่าเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้มากขึ้น
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 24 ต.ค. 2567 ว่า 13 ประเทศ รวมถึง 4 ชาติอาเซียนได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของ “บริกส์” (BRICS) กลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับชาติตะวันตกแล้ว
บัญชีผู้ใช้ X อย่างเป็นทางการของกลุ่ม BRICS (@BRICSInfo) โพสต์ข้อความในวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. ว่า 13 ประเทศได้เข้าร่วมกับพวกเขาในฐานะประเทศหุ้นส่วนแล้ว โดยอีก 9 ประเทศนอกจาก 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ แอลจีเรีย, เบลารุส, โบลิเวีย, คิวบา, คาซัคสถาน, ไนจีเรีย, ตุรกี, ยูกันดา และอุซเบกิสถาน
นายโมฮาหมัด ฮาซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซียกล่าวว่า จากนี้มาเลเซียจะมีโอกาสทางการค้าที่ดีขึ้น เนื่องจากกลุ่ม BRICS มีประชากรรวมกันมากกว่า 3.2 พันล้านคน
มาเลเซียยังให้คำมั่นว่า จะไล่ตามเป้าหมายของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในการเพิ่มความร่วมมือ โดยเฉพาะระหว่างที่มาเลเซียรับหน้าที่เป็นประธานเวียนของอาเซียนในปีหน้า เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชาติมหาอำนาจและเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนใหม่ๆ
อีกด้านหนึ่ง นายซูจิโอโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ของอินโดนีเซีย เรียกร้องให้เกิดความสงบและความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ที่การประชุมสุดยอดชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ที่รัสเซีย และทำหน้าที่ของตัวเองในการสร้างระเบียบโลกที่เท่าเทียม, เป็นธรรม และครอบคลุมมากขึ้น
อนึ่ง กลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยมีสมาชิกเริ่มแรกคือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน จากนั้น แอฟริกาใต้ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2553 ตามด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปีนี้ ส่วน 13 ประเทศล่าสุด ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับกลุ่ม BRICS อย่างเต็มตัว
...
ชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันถึง 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 28% ของเศรษฐกิจโลก โดยพวกเขาจะจัดการประชุมประจำปีขึ้นที่เมือง คาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.
ทั้งนี้ นายฮัลมี อัซรี นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมือง มองว่า 4 ชาติอาเซียนเข้าเป็นหุ้นส่วน BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า และเพิ่มความหลักหลายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกเขา ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามในยูเครนกับตะวันออกกลาง
แรงจูงใจอีกอย่างอาจเป็น เพื่อผูกมิตรกับจีน และเพื่อให้ได้เงื่อนไงการลงทุนและการค้าที่ดีขึ้นจากแดนมังกร เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลักดันหลักของกลุ่ม BRICS
ขณะที่ ดร.โอ เอ ซุน จากสถาบันวิจัยกิจการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ เชื่อว่า การเข้าเป็นหุ้นส่วน BRICS ของ 4 ชาติอาเซียนนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาคมอาเซียนมากนัก นอกจากจะถูกมองว่าเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ในการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ส่วนนายฮัลมีระบุว่า ทั้ง 4 ประเทศอาจกลายเป็นกระบอกเสียงของอาเซียน เพื่อหยิบยกปัญหาหรือเสนอการพัฒนาร่วมกันกับชาติสมาชิก BRICS ได้
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : cna