การดีเบตของแคนดิเดทชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 1 ระหว่าง โจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 เป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันเฝ้าจับตามองอย่างมาก ว่าระหว่างนักการเมืองมากประสบการณ์ กับมหาเศรษฐีฝีปากกล้า จะแสดงทัศนะทางการเมืองแบบใดออกมาให้พวกเขาเห็น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการโต้อภิปรายนาน 90 นาที ที่ห้องส่งของเครือข่ายโทรทัศน์ CNN กลับเรียกได้ว่า เป็นหายนะสำหรับ โจ ไบเดน และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การถอนตัวจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของเขาในเวลาต่อมา

ดีเบตแห่งหายนะของไบเดน

ในการดีเบต ไบเดน ในวัย 81 ปี กับ โดนัลด์ ทรัมป์ วัย 78 ปี ต่างโจมตีกันในประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ทรัมป์อวดอ้างว่า ในยุคของตัวเองเศรษฐกิจอเมริกาเติบโต มีการจ้างงานสูงสุด และโจมตีไบเดนเรื่องความล้มเหลวในการคุ้มกันชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ เปิดทางให้มีการไหลบ่าเข้ามาของอาชญากรจำนวนมาก

ส่วนไบเดนกล่าวโทษทรัมป์ ที่เปิดช่องให้เกิดการจำกัดสิทธิการทำแท้งทั่วประเทศ รุกนายทรัมป์เรื่องคดีความต่างๆ ที่เขากำลังถูกฟ้องร้อง ขณะที่ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ไบเดน ที่ให้เงินสนับสนุนจำนวนมากแก่ยูเครน พร้อมระบุว่า การรุกรานจะไม่เกิดขึ้นหากสหรัฐฯ มีผู้นำที่ดี นอกจากนี้ยังมีการแสดงวิสัยทัศน์กันในเรื่อง คุณภาพชีวิตคนผิวดำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

หลังการดีเบตจบลง โพลสำรวจความเห็นหลายสำนักเทไปในทางเดียวกันว่า ไบเดน แพ้ให้แก่ทรัมป์อย่างสิ้นเชิง แม้แต่ที่ปรึกษาอาวุโสของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคเดโมแครตก็มองว่า ไบเดนทำได้แย่มากทั้งเนื้อหาสาระ การนำเสนอ ยังพ่ายแพ้ในการตอบโต้กลับ รวมทั้งอากัปกิริยา เรียกว่าไม่มีจุดใดเลยที่ทำได้ดีในการประชันหน้ากับทรัมป์เป็นครั้งแรก

และสิ่งที่หลายคนสังเกตเหตุเหมือนกันคือ ไบเดนมีท่าทีค่อนข้างอ่อนล้า ไม่มีพลัง พูดตะกุกตะกักบ่อยครั้ง ประกอบกับเสียงที่แหบพร่า บางครั้งก็คิดนานผิดปกติกว่าจะตอบคำถาม แม้ว่าทีมหาเสียงของเขาจะพยายามแก้ตัวว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะไบเดนเป็นไข้หวัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นนั้นว่า ท่าทีของไบเดน ตอกย้ำคำถามที่ว่า เขาแข็งแรงพอเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหรือไม่

...

ความเชื่อมั่นพังทลาย

เรื่องอายุและสุขภาพของไบเดนนั้น เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลมานานแล้ว เพราะก่อนจะถึงวันดีเบตไม่ถึง 1 เดือน มีภาพไบเดนสะดุดล้มคว่ำที่งานมอบเกียรติบัตรกองทัพอากาศ จากนั้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่การประชุม G7 ก็มีคลิปแสดงให้เห็นว่า ไบเดนเดินงงหลงทิศไปจากผู้นำคนอื่นๆ จนนายกฯ อิตาลีอิตาลีต้องตามไปดึงตัวกลับมา

โดนัลด์ ทรัมป์ กับรีพับลิกันก็ใช้เรื่องอายุมาโจมตีไบเดนหลายครั้ง ซึ่งทางฝ่ายเดโมแครตกับไบเดน คาดหวังจะใช้การดีเบตครั้งนี้ เรียกความเชื่อมั่นกลับมา แต่ผลลัพธ์กลับทำให้ความกังวลทวีความรุนแรงขึ้นอีก

ในวันรุ่นขึ้นหลังการดีเบต สำนักข่าว นิวยอร์ก ไทม์ส ก็เผยแพร่บทบรรณาธิการ ระบุว่า พรรคเดโมแครตควรรับความจริงได้แล้วว่า ณ นาทีนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้

ด้านพรรคเดโมแครตก็กำลังอยู่ในสภาวะวิตกกังวลและตื่นตระหนกอย่างหนักเพราะผลการดีเบต ผู้บริจาครายใหญส่งข้อความถึงที่ปรึกษาทีมหาเสียง เรียกร้องให้ทำอะไรสักอย่างเพื่อกู้สถานการณ์กลับมา บางรายถึงขั้นเสนอให้หาผู้สมัครคนอื่นมาแทนไบเดน

ส่วนสำนักข่าว ซีบีเอส นิวส์ เผยผลโพลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พบว่า มีผู้โหวตเพียง 27% เท่านั้นที่เชื่อว่า ไบเดนยังมีความพร้อมด้านจิตใจและการรับรู้ดีพอจะลงเลือกตั้งต่อไป ลดจากเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 35%

แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

โดนกดดันอย่างหนักจากภายใน

ไบเดนยืนยันว่า ตัวเขาจะยังอยู่ในการแข่งขันและไม่ถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาไปขึ้นเวทีหาเสียงที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ด้วยท่าทีขึงขังสุดๆ พร้อมเดินสายปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ที่พังทลายลงไปกลับมา

แต่ความพยายามของไบเดนดูเหมือนจะไม่เป็นผล นายลอยด์ ด็อกเกตต์ สส.รัฐเทกซัส กลายเป็นสมาชิกสภาคองเกรสฝ่ายเดโมแครตคนแรกออกมาเรียกร้องในที่สาธารณะ ให้ไบเดนถอนตัวจากการ ขณะที่ผู้บริจาครายใหญ่ของพรรคเดโมแครตหลายคน รวมถึง จอร์จ คลูนีย์ และรีด เฮสติงส์ ก็ออกมาร่วมกดดันด้วย

หลังจากนั้น สมาชิกระดับสูงของเดโมแครตก็ออกมาร่วมเรียกร้องให้ไบเดนถอนตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นนาย อดัม ชิฟฟ์ สส.รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกำลังจะลงชิงตำแหน่ง สว.รัฐเดียวกันนี้ หรือนาย ชัค ชูเมอร์ สมาชิกอาวุโส ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา และนายฮาคีม เจฟฟรีส์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร

แม้แต่นาง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯ (ในขณะนั้น) ที่เคยกล่าวปกป้องไบเดนก่อนหน้านี้ ก็เปลี่ยนท่าทีไปไม่เข้าข้างสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนเดิม โดยระบุว่า “ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีเองว่าจะตัดสินใจลงเลือกตั้งต่อไปหรือไม่ เราทุกคนต่างกระตุ้นให้เขาตัดสินใจ เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว”

ซ้ำร้าย ไบเดนยังไปปล่อยไก่ตัวเบ้อเร่อกลางเวทีประชุมนาโต ด้วยการเรียกรองประธานธิบดี คามาลา แฮร์ริส ว่า “รองประธานาธิบดีทรัมป์” และที่หนักกว่านั้นคือ เรียกประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน เป็น "ประธานาธิบดีปูติน" ด้วย

สถานการณ์ในทีมหาเสียงของไบเดนก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน เมื่อนายเจฟฟรีย์ คัตเซนเบิร์ก ประธานร่วมของทีมหาเสียงของไบเดน บอกกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการส่วนตัวว่า เงินทุนสนับสนุนจากผู้บริจาคกำลังลดลงเรื่อยๆ แล้ว

...

ตัดสินใจถอนตัวจากการเลือกตั้ง

ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนัก โดยเฉพาะจากภายในพรรคของตนเอง และรายงานของสื่อที่บอกว่าคนโน้นคนนี้กำลังหารือกันเรื่องแผนในอนาคต หรือผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดทแทนตัวเขา ในที่สุด นายไบเดน ก็ประกาศถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งปี 2567 อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 ก.ค. 2567

ไบเดนระบุในจดหมาย ที่โพสต์ผ่านบัญชีผู้ใช้ X อย่างเป็นทางการของเขาว่า เขาจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 แล้ว และโพสต์ข้อความที่ 2 สนับสนุน น.ส.คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของเขา เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตไปชิงชัยกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนพฤศจิกายนแทน

“เป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม ที่ได้รับใช้พวกคุณในฐานะประธานาธิบดี” ไบเดน ระบุในจดหมาย “และในขณะที่เป็นความตั้งใจของผมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง แต่ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพรรคและประเทศของผม ถ้าผมถอนตัว และมุ่งสมาธิทำหน้าที่ของตัวเองในฐานประธานาธิบดีตลอดวาระที่เหลืออยู่ให้ลุล่วง”

นับเป็นบทสรุปเกินความคาดหมายสำหรับทั้ง โจ ไบเดน และหลายๆ คน เพราะคงไม่มีใครนึกว่า ความผิดพลาดในการดีเบตจะส่งผลต่อเนื่องให้ไบเดนต้องยุติเส้นทางชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของตัวเองลง ภายในระยะเวลาเพียง 25 วันเท่านั้น

...

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : axios , abcnews , aljazeera