• ยูเอ็นเปิดการประชุม "COP16" ว่าด้วยการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีผู้แทนกว่า 15,000 คนจากกว่า 190 ประเทศเข้าร่วมในเมืองคาลี ของโคลอมโบ เพื่อเพื่อพยายามแก้ไขภารกิจที่ค้างอยู่ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่านการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
  • นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่างๆ จะพบกันเพื่อหารือเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของโลก นับตั้งแต่ข้อตกลง คุนหมิง-มอนทรีออลในปี 2022 เมื่อผู้นำโลกได้ให้คำมั่นสัญญาที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
  • นักนิเวศวิทยาเตือนว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ประชากรสัตว์ป่าของโลกลดลงอย่างรวดเร็ว และระบบนิเวศของโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่การสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ อาจเกิดเร็วขึ้น

นับตั้งแต่สัปดาห์นี้จะมีการประชุมใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม 2 เวทีที่จัดโดยสหประชาชาติ ให้ติดตามกัน โดยระหว่างวันที่ 21 ต.ค.-1 พ.ย. จะเป็นการประชุม "COP16" ว่าด้วยการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย และตามด้วย การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "COP29" ที่เมืองบากู ประเทศ อาเซอร์ไบจาน

โดยบรรดาผู้นำโลก รัฐมนตรี นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิจัย ได้เดินทางไปถึงเมืองกาลี ประเทศโคลอมเบียเพื่อร่วมการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 หรือ "COP16" การประชุมด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปีนี้มีธีมคือ "Peace with Nature"" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การประชุมครั้งนี้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ส่งผลต่อชะตากรรมของประชากรสัตว์ป่าของโลก และพืชพรรณ ที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว

...

หัวข้อสำคัญของการประชุม

การประชุม COP16 จะมีการหารือเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ และการอนุรักษ์สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยได้แบ่งปันข้อมูลและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศ โดยการประชุม COP16 มี 3 ประเด็นที่เป็นไฮไลท์สำคัญที่ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การแปลงแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพ (The Biodiversity Plan) ที่สำนักเลขาธิการการประชุมได้เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ให้นำไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับประเทศ ตามเป้าหมาย 

ในการประชุม COP16  ประเทศภาคีสมาชิกจะร่วมกันแสดงให้เห็นว่าการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) มีความสอดคล้องกับกับแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพมากแค่ไหน เพื่อบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก

อีกประเด็นสำคัญคือ การระดมทรัพยากรให้เพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในทุกด้าน ตลอดจนกระชับความร่วมมือด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์ โดยคาดหวังว่าในการประชุม COP16 ภาคีสมาชิกจะสามารถปิดช่องว่างทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพที่กำหนดไว้ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งภาคีสมาชิกมีเวลาเพียงไม่กี่ปีในการบรรลุเป้าหมายระดมทุนนี้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมจะเร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้าของกลไกการเข้าถึงและการแบ่งปันทางการเงิน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการประชุมคือ ความร่วมมือในการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีการเจรจา ในการประชุม COP16 ที่คาดว่าภาคีสมาชิกจะเห็นพ้องในการดำเนินกลไกพหุภาคีเพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม ซึ่งจะมีการจัดประชุมเพี่อการเจรจา ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในเดือนสิงหาคมปีนี้

นอกจากนี้การประชุมยังมุ่งหวังที่จะสร้างกรอบการทำงานที่ประเทศต่าง ๆ จะสามารถร่วมมือกันได้ โดยมีตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ เช่น คอสตาริกา ที่มีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะชุมชนท้องถิ่นที่มีการเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มักมีผลลัพธ์ที่ดีกว่า ประสบการณ์ที่ได้จากชุมชนเหล่านี้จะถูกแชร์เพื่อสร้างความรู้และแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น

...

วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

นักนิเวศวิทยาเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนปัญหามลพิษได้ทำให้จำนวนประชากรสัตว์ พืชพรรณ เชื้อรา และจุลินทรีย์ของโลก กำลังลดลงอย่างมากจนน่าวิตก โดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund-WWF) ได้เตือนว่าจำนวนสัตว์ป่าที่ลดลงนั้นใกล้จะถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับได้แล้ว

ลอร์เลย์ ปิคอร์ต กรรมการบริหารของ Ocean and Climate Platform ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนการปกป้องท้องทะเลของโลก กล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลในระบบนิเวศ โดยช่วยสนับสนุนการผลิตอาหารและรักษาทรัพยากรน้ำ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีผลต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ

เขากล่าวว่าที่ผ่านมานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและนักวิจัยต่างมีความหวังว่า ที่ประชุม COP16 นั้นเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักการเมืองที่จะนำโลกกลับเข้าสู่เส้นทางเดิม แม้ความพยายามที่จะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของโลกในขณะนี้จะดูเป็นความทะเยอทะยานที่ห่างไกลความจริง แต่เรากำลังอยู่ในจุดมี่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนความทะเยอทะยานนี้ให้เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม 

...

ในการประชุมครั้งนี้ บรรดาผู้แทนประเทศต่างๆจะพยายามหารือเกี่ยวกับงบประมาณสำหรับการปกป้องธรรมชาติ และสร้างกลไกเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ จะรักษาคำมั่นสัญญาในการปกป้องป่า แม่น้ำ และมหาสมุทรของโลก

แกวิน เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานเลขาธิการ Nature Positive Initiative ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรขององค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวว่า โคลอมเบียเป็นประเทศที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่เพียงแต่โคลอมเบียเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติอันน่าทึ่งเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการแสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติส่งผลดีต่อธรรมชาติและผู้คนอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเลือกตั้งระดับโลก การประชุมสำคัญอื่นๆ และปัญหาเร่งด่วนด้านความมั่นคงระดับชาติและระดับนานาชาติ การประชุมความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติครั้งนี้ กำลังแย่งชิงความสนใจจากเวทีระดับโลก.