ท่ามกลางซากปรักหักพัง ภายในย่านเทล สุลต่าน เมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา นักรบชายผู้หนึ่งนั่งอยู่บนโซฟาในบ้านร้างอย่างโดดเดี่ยว บนแขนขวามีร่องรอยบาดแผลลึกที่เกิดจากคมกระสุนปืน สายตาจับจ้องมองโดรนของข้าศึกที่บินหึ่งอยู่ใกล้ๆ ก่อนพยายามใช้เรี่ยวแรงที่เหลือโยนเศษไม้ใส่เหมือนปัดรำคาญ
ไม่มีใครทราบว่าสิ่งสุดท้ายที่เขานึกถึงคืออะไร แต่ภายในเวลาไม่นาน นักปาเลสไตน์ผู้นี้ก็ได้จบชีวิตลงด้วยแรงระเบิดจากกระสุนปืนรถถังอิสราเอล ที่ยิงอัดซ้ำเข้าไปในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงแก่เหล่าทหารราบ
โดยเพลานั้นยังไม่มีใครทราบว่า นี่คือห้วงเวลาสุดท้ายของ “ยะห์ยา ซินวาร์” ผู้นำสูงสุดกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาส ผู้เป็นศัตรูคู่อาฆาตของอิสราเอลมานานนับหลายทศวรรษ
และหนึ่งใน “มาสเตอร์มายด์” ผู้วางแผนก่อเหตุโศกนาฏกรรมวันที่ 7 ต.ค.2566 ต้นชนวนของสงครามรอบใหม่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตะวันออกกลาง ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และทุกวันนี้ยังมีชาวอิสราเอลและชาวไทยถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ในเงื้อมมือของนักรบหัวรุนแรง
ยะห์ยา ซินวาร์ มีชีวิตเหมือนกับชาวปาเลสไตน์ทั่วไปที่ลืมตาดูโลกในค่ายผู้อพยพเมืองข่านยูนิส ในฉนวนกาซา ถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาในช่วงวัยรุ่น และภายหลังจบการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกาซา ทางครูสอนศาสนาที่น่านับถือก็เป็นผู้ที่พายะห์ยา เข้าร่วมกลุ่มการเมืองกลุ่มใหม่ที่มีชื่อว่า “ฮามาส” เมื่อปี 2530
โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการด้าน “ข่าวกรอง” ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็เหมือนกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆในยุคสงครามเย็น คอยทำหน้าที่ตรวจสอบ จับผิด และลงโทษบุคคลใดที่ต้องสงสัยว่า “ให้ความร่วมมือกับอิสราเอล” ไปจนถึงบุคคลที่เข้าข่ายละเมิด “กฎศีลธรรม” ของกลุ่มฮามาสภายในฉนวนกาซา ซึ่งยะห์ยาได้ยอมรับกับสื่อท้องถิ่นหลายครั้งว่าเคยฆ่า ชาวปาเลสไตน์ไปหลายคน
...
ยะห์ยาถูกจับติดคุกอิสราเอลในปี 2531 และใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาถึง 22 ปี ภายใต้ข้อหาพยายามฆ่าและก่อวินาศกรรม อดีตเจ้าหน้าที่สอบสวนเคยเปิดเผยว่า ยะห์ยาเป็นคนที่แข็งกร้าวและมุ่งมั่น ไม่เคยปริปากสนทนากับเจ้าหน้าที่อิสราเอลในเรือนจำ ทั้งยังลงโทษนักโทษคนอื่นๆที่ทำเช่นนั้น จำได้ว่า มีนักโทษปาเลสไตน์รายหนึ่งถูกยะห์ยาจับเอาหน้ากดกับเตาครัว หลังแสดงความเป็นมิตรกับผู้คุมอิสราเอล
แต่ในขณะเดียวกัน ยะห์ยายังเป็นคนที่มีความคิดทางการเมืองแหลมคม ใช้เวลาในเรือนจำเรียนภาษาอิสราเอล (ฮีบรู) อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอิสราเอล และหนังสือของอิสราเอลหลายเล่ม เรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับอิสราเอล ไม่ว่าแนวคิด ลักษณะนิสัยใจคอ พร้อมกับมีวาทศิลป์ในการปลุกระดม เคยเป็นแกนนำจัดการประท้วงในเรือนจำหลายครั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
หลังได้รับการปล่อยตัวตามโครงการแลกเปลี่ยนนักโทษ-ตัวประกันในปี 2554 ยะห์ยาใช้เวลา 7 ปี ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังฮามาสในฉนวนกาซา ขจัดแกนนำระดับสูงที่ขวางทาง พร้อมกับกำจัดกองกำลังติดอาวุธอิสระอื่นๆที่คิดจะมาขยายอิทธิพลในฉนวนกาซา ก่อนเริ่มวางแผนปฏิบัติการขนานใหญ่ ด้วยความเชื่อว่า หนทางเดียวในการปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์จากเรือนจำอิสราเอล คือการจับคนอิสราเอลเป็นตัวประกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏก็คือเหตุการณ์วิปโยควันที่ 7 ต.ค.นั่นเอง
การเสียชีวิตของ “ผู้นำสูงสุด” ฮามาส ครั้งนี้ ผิดคาดจากนักวิเคราะห์ความมั่นคงประเมินไว้ เนื่องจากมีข้อมูลข่าวกรองที่ทำให้เชื่อได้ว่ายะห์ยาสัญจรด้วยอุโมงค์ใต้ดิน ห้อมล้อมรอบตัวด้วยเหล่านักรบหัวกะทิและตัวประกัน ใช้วิธีแจ้งคำสั่งแก่นักรบหน่วยต่างๆด้วย “คนนำสาร” ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้การ “เจรจา” ก่อนหน้านี้ทุกรอบใช้เวลานานกว่าปกติ และทำให้หน่วยรบพิเศษอิสราเอลไม่เคย ได้เฉียดใกล้ยะห์ยาแม้แต่น้อย มีโอกาสลุ้นมากที่สุดก็เมื่อเดือน ม.ค. หรือ 10 เดือนก่อน พบสถานที่คล้ายที่กบดานของยะห์ยาในเมืองข่านยูนิส โดยในห้องมีเสื้อผ้าส่วนตัว และปึกธนบัตรเชเกลของอิสราเอลมูลค่าราว 9 ล้านบาท
แถมจะเรียกว่า “บังเอิญ” ก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะหน่วยรบของอิสราเอลที่เกี่ยวข้องก็ไม่ใช่หน่วยรบพิเศษที่ออกปฏิบัติการบุกสังหาร แต่เป็นหน่วยทหารราบ “กองพัน 828 บิชลาก” ที่ออกลาดตระเวนเคลียร์พื้นที่ในเมืองราฟาห์ ซึ่งจากรายงานเบื้องต้นคือเกิดการยิงปะทะกับนักรบติดอาวุธ 3 คน มีรายหนึ่งหนีเข้าไปหลบในบ้าน ใช้ปืนรถถังยิงอัด ก่อนใช้โดรนยืนยันและยิงซ้ำอีกรอบจนถึงแก่ความตาย
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของยะห์ยาถือว่าค่อนข้างสร้างความวิตกกังวลอยู่พอสมควร เพราะก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า การที่อิสราเอลไล่เด็ดหัวแกนนำไปเป็นจำนวนมาก จะทำให้มีคนที่มีอำนาจการตัดสินใจเหลืออยู่หรือไม่ หรือมีใครไหมที่จะกล้าขยับขึ้นมาเป็นหัวเรือรายต่อไป
แล้วใครจะเป็นผู้ดูแลเหล่าตัวประกัน ที่ยังเหลืออยู่ คำสั่งที่ประกาศว่าให้สังหารตัวประกันทันทีที่หน่วยรบอิสราเอลเข้าใกล้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบจากปากคำของตัวประกันที่ถูกปล่อยตัวกลับมา ยะห์ยาคือผู้ที่ดูแลความเป็นอยู่และชี้เป็นชี้ตายชะตากรรม?
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม