เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: ย้อนรอยประวัติศาสตร์การลอบสังหาร ผู้นำสหรัฐอเมริกาในอดีต ซึ่งอดีตประธานาธิบดีหลายคนต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

อับราฮัม ลินคอล์น

ประธานาธิบดีคนที่ 16

อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี 1865 โดย จอห์น วิลค์ส บูธ ขณะที่นายลินคอล์นและ แมรี ทอดด์ ลินคอลน์ ผู้เป็นภริยา กำลังชมละครเวทีเรื่อง "Our American Cousin" ที่โรงละครฟอร์ดเธียเตอร์ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี

ลินคอล์นถูกพาตัวไปยังบ้าน Petersen House ที่อยู่ตรงข้ามกับโรงละคร เพื่อรับการรักษาหลังถูกยิงที่ด้านหลังศีรษะ ก่อนจะเสียชีวิตในเวลา 07.22 น. ของเช้าวันต่อมา ส่วนนายบูธ ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 26 เมษายน 1865 หลังมีผู้พบตัวซ่อนอยู่ในโรงนาใกล้ ๆ เมืองโบว์ลิงกรีน รัฐเวอร์จิเนีย ส่วนของเหตุจูงใจของการลอบสังหารครั้งนั้น เชื่อกันว่า เป็นเพราะบูธไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของลินคอล์นที่สนับสนุนสิทธิ์ของคนผิวดำในประเทศ

ในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ หรือ 2 ปีก่อนที่จะเกิดการลอบสังหารนี้ ลินคอล์นได้ออกประกาศเลิกทาสเพื่อให้อิสรภาพแก่ทาสทุกคนที่อยู่ฝั่งสมาพันธรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยทาส

การลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์น
การลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์น

...

เจมส์ การ์ฟิลด์

ประธานาธิบดีคนที่ 20

เจมส์ การ์ฟิลด์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 2 ที่ถูกลอบสังหาร โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการ์ฟิลด์รับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน ที่สถานีรถไฟบัลติมอร์ แอนด์ โปโตแมก ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 กรกฎาคม 1881 เพื่อไปขึ้นรถไฟไปภูมิภาคนิวอิงแลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ก่อนจะถูกยิงเสียชีวิตโดยนายชาร์ลส์ เจ. กิโต

นายกิโตได้แจกจ่ายสำเนาคำปราศรัยที่เขาเขียนเพื่อสนับสนุนนายการ์ฟิลด์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 1880 เขาเชื่อว่าการกระทำของเขาเป็นสิ่งสำคัญต่อชัยชนะของการ์ฟิลด์ และเขาเชื่อว่าการที่นายการ์ฟิลด์ได้รับตำแหน่งทางการทูตในยุโรป ก็เกิดจากการช่วยเหลือของเขา หลังจากความพยายามหลายเดือนล้มเหลวในการขอเงินตอบแทนจากรัฐบาลการ์ฟิลด์ เขาซื้อปืนพกและเริ่มสะกดรอยตามการ์ฟิลด์โดยมีเป้าหมายเพื่อลอบสังหาร

ประธานาธิบดีการ์ฟิลด์ รักษาตัวจากแผลที่ถูกยิงที่ทำเนียบขาวเป็นเวลากว่า 2 เดือนครึ่ง ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 19 กันยายนปีเดียวกัน จากอาการแผลติดเชื้อ ส่วนกิโต ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1882

วิลเลียม แมคคินลีย์

ประธานาธิบดีคนที่ 25

ประธานาธิบดีวิลเลียม แมคคินลีย์ ถูกลอบยิง ในสถานที่แสดงดนตรี ระหว่างการร่วมงาน Pan-American Exposition ที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 1901 ระหว่างการจับมือกับผู้คน โดยนายลีออน เอฟ. โชลกอซ ยิงเข้าที่หน้าท้อง 2 นัดในระยะประชิด หลังเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้เพียง 6 เดือน ในระหว่างการรักษาตัว แพทย์คาดว่า แมคคินลีย์ น่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ก็เกิดอาการเนื้อตาย รอบ ๆ แผลที่ถูกยิง และเสียชีวิตในวันที่ 14 กันยายน 1901 

ลีออน เอฟ. โชลกอซ ซึ่งเป็นชาวเมืองดีทรอยต์ วัย 28 ปี ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือยิง โดยพบว่าเขาตกงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1893 และหันไปพึ่งลัทธิอนาธิปไตย ซึ่งเป็นปรัชญาทางการเมืองที่ผู้ลอบสังหารผู้นำต่างชาติยึดถือ เขามองว่าแมคคินลีย์เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ และเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของเขาในฐานะนักอนาธิปไตยที่จะต้องสังหาร เขาไม่สามารถเข้าใกล้นายแมคคินลีย์ได้ในระหว่างการเยือนครั้งก่อน แต่เขาได้ยิงแมคคินลีย์สองครั้ง ในขณะที่แมคคินลีย์เอื้อมมือไปจับมือผู้ต้อนรับที่ยืนในแถวต้อนรับ กระสุนนัดหนึ่งเฉียดแมคคินลีย์อีกนัดหนึ่งเจาะเข้าช่องท้องของเขา

โชลกอซถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1901

จอห์น เอฟ เคนเนดี
จอห์น เอฟ เคนเนดี

จอห์น เอฟ. เคนเนดี

ประธานาธิบดีคนที่ 35

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ถูกลอบสังหารขณะกำลังนั่งขบวนรถของประธานาธิบดีผ่านเขตดีลีย์ พลาซา ในเมืองดัลลาส รัฐเท็กซัส พร้อมกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แจ็กเกอลีน เคนเนดี

...

เคนเนดีอยู่ในรถพร้อมกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แจ็กเกอลีน เคนเนดี นายจอห์น คอนนัลลี ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส  และภรรยาของนายคอนนัลลี ในขณะที่เขาถูกลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ยิงเสียชีวิตจากอาคาร Texas School Book Depository ที่อยู่ใกล้เคียง ต่อมาขบวนรถได้รีบไปที่โรงพยาบาลพาร์คแลนด์ เมโมเรียล ซึ่งเคนเนดีเสียชีวิตในเวลาประมาณ 30 นาทีหลังจากเกิดเหตุยิง ส่วนนายคอนนัลลีได้รับบาดเจ็บเช่นกัน แต่ฟื้นตัวได้ ทำให้นายลินดอน บี. จอห์นสัน รองประธานาธิบดี เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเร่งด่วนในอีก 2 ชั่วโมง 8 นาทีต่อมา บนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ที่สนามบินดัลลาส เลิฟ ฟิลด์

หลังการลอบสังหาร ออสวอลด์กลับบ้านเพื่อไปเอาปืน เขายิงและฆ่านายเจ.ดี. ทิปพิต ตำรวจเมืองดัลลาส ในเวลาต่อมา หรือประมาณ 70 นาทีหลังจากที่เคนเนดีถูกยิง ออสวอลด์ถูกสำนักงานตำรวจดัลลาสจับกุม และถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมเคนเนดีและทิปพิต ภายใต้กฎหมายของรัฐเท็กซัส สองวันต่อมา ในเวลา 11.21 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 1963 ขณะที่มีการถ่ายทอดสดการคุมตัวออสวอลด์ผ่านชั้นใต้ดินของสำนักงานตำรวจดัลลาส เขาถูกนายแจ็ก รูบี้ เจ้าของไนท์คลับดัลลาส ยิงเสียชีวิต ออสวอลด์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพาร์คแลนด์เมโมเรียล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา รูบี้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมออสวอลด์ แม้ว่าคำตัดสินจะถูกพลิกกลับในชั้นอุทธรณ์ และรูบี้เสียชีวิตในเรือนจำในปี 1967 ขณะรอการพิจารณาคดีใหม่

นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดี ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ถึง 8 คน รวมถึงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่

แอนดรูว์ แจ็กสัน

30 มกราคม 1835: ช่างทาสีบ้านชื่อริชาร์ด ลอว์เรนซ์ พยายามยิงประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ด้วยปืนพก 2 กระบอกที่บริเวณนอกอาคารรัฐสภา แต่ทั้งสองกระบอกลั่นไกพลาด ต่อมามีคนพยายามทดลองยิงปืนพก 2 กระบอกและก็ยิงได้ปกติ ลอว์เรนซ์ถูกจับกุมหลังจากที่แจ็กสันฟาดเขาอย่างแรงด้วยไม้เท้า ลอว์เรนซ์ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดเนื่องจากวิกลจริต และถูกคุมขังในสถาบันจิตเวชจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1861

...

ธีโอดอร์ รูสเวลต์

หลังจาหมดวาระประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 ปี ครึ่ง นายธีโอดอร์ โรสเวลต์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1912 ในฐานะสมาชิกพรรคก้าวหน้า ขณะหาเสียงในเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1912 จอห์น ชแรงก์ เจ้าของร้านเหล้าจากนิวยอร์กที่คอยสะกดรอยตามเขามาหลายสัปดาห์ ได้ยิงรูสเวลต์เข้าที่หน้าอกหนึ่งครั้งด้วยปืนโคลท์ โพลิซี โพซิทีฟ สเปเชียล ขนาด .38 แต่สำเนาสุนทรพจน์หนา 50 ซึ่งมีชื่อว่า "Progressive Cause Greater Than Any Individual" ที่พับทบสองครั้งในกระเป๋าหน้าอกของรูสเวลต์ และกล่องแว่นตาโลหะ ได้ช่วยชะลอกระสุน ทำให้เขารอดชีวิตมาได้ 

แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1933 หรือ 17 วันก่อนการรับตำแหน่งประธานาธิบดี นายรูสเวลต์ รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารโดยนายจูเซปเป ซานการา ซึ่งแสดงออกถึง "ความเกลียดชังต่อผู้ปกครองทุกคน" ขณะที่เขาพยายามยิงรูสเวลต์ ซานการาถูกผู้หญิงคนหนึ่งตีด้วยกระเป๋าของเธอ แต่กระสุนกลับโดนนายแอนตัน เซอร์มัก นายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ รูสเวลต์ จนเสียชีวิต

แฮร์รี ทรูแมน

1 พฤศจิกายน 1950 นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชชาวเปอร์โตริโกสองคน ได้แก่ ออสการ์ คอลลาโซ และกริเซลิโอ ตอร์เรโซลา พยายามลอบสังหารประธานาธิบดีทรูแมนที่แบลร์เฮาส์ ซึ่งทรูแมนอาศัยชั่วคราว ขณะที่ทำเนียบขาวกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงครั้งใหญ่ ในการโจมตีครั้งนั้น ตอร์เรโซลาได้ทำร้ายตำรวจทำเนียบขาว 2 นาย ที่ยิงตอบโต้จนนายตอร์เรโซลาเสียชีวิต ขณะที่นายทรูแมนไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ส่วนนายคอลลาโซถูกตัดสินว่ามีความผิดในศาลรัฐบาลกลางและได้รับโทษประหารชีวิต ทรูแมนลดโทษประหารชีวิตของคอลลาโซเป็นจำคุกตลอดชีวิต

...

เจอรัลด์ ฟอร์ด

ถูกคนพยายามลอบสังหารถึง 2 ครั้ง ติดต่อกันหลังรับตำแหน่งในปี 1975  ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1975 ในบริเวณทางตอนเหนือของอาคารรัฐสภาแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ในเมืองซาคราเมนโต โดยผู้ลงมือคือ ลินเน็ตต์ ฟรอมม์ สาวกของนายชาร์ลส์ แมนสัน ที่ใช้ปืนโคลท์เอ็ม 1911 ขนาด .45 ออกมาจ่อฟอร์ด ขณะที่เขาเอื้อมมือไปจับมือเธอ แต่ไม่มีกระสุนอยู่ในรังเพลิง ทำให้ปืนยิงไม่ได้ เธอถูกเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาประธานาธิบดีจับกุมในทันที ฟรอมม์ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2009

ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน 1975 ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เพียง 17 วันหลังจากความพยายามของฟรอมม์ นส. ซารา เจน มัวร์ได้ยิงปืนลูกโม่ใส่ฟอร์ดจากระยะ 12 เมตร แต่มีคนจับแขนของมัวร์ ทำให้กระสุนพลาดโดนกำแพงอาคาร มัวร์ถูกพิจารณาคดีและถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เธอได้รับการพักโทษจากเรือนจำของรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2007

โรนัลด์ เรแกน

โรนัลด์ เรแกน ถูกนายจอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ ที่ยืนอยู่ในฝูงชนยิงเข้าใส่ ขณะที่เขากำลังเดินกลับมาที่รถ หลังเสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัยที่กรุงวอชิงตัน ในวันที่ 30 มีนาคม 1981 นอกจากนายเรแกนแล้ว ยังมีผู้ถูกยิงในเหตุการณ์นี้อีก 3 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ เจมส์ เบรดี โฆษกประธานาธิบดี ที่กลายมาเป็นอัมพาตบางส่วนเพราะเหตุลอบยิงครั้งนั้น

ฮิงค์ลีย์ ถูกจับกุมและนำไปคุมตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช หลังคณะลูกขุนตัดสินว่า เขาไม่มีความผิดในเหตุการณ์ยิงเรแกน เนื่องจากมีภาวะวิกลจริต โดยศาลสั่งปล่อยตัวเขาในปี 2022 หลังผู้พิพากษาตัดสินว่า ฮิงค์ลีย์ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นอีกต่อไป

บารัค โอบามา

นายออสการ์ ออร์เตกา-เฮอร์นานเดซ วัย 21 ปี จากรัฐไอดาโฮ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ตั้งข้อหาพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2011 ด้วยการยิงปืนกึ่งอัตโนมัติใส่ทำเนียบขาวหลายนัด กระสุนอย่างน้อย 7 นัดตกที่ชั้นสอง อย่างไรก็ตาม ทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา และนางมิเชลล์ โอบามา ไม่ได้อยู่ในทำเนียบขาวในขณะนั้น เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ซาชา บุตรสาวคนเล็กของโอบามา และแมเรียน ชิลด์ส โรบินสัน มารดาของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง อยู่ในทำเนียบขาว แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ หน่วยข่าวกรองใช้เวลา 4 วันจึงรู้ว่ามีกระสุนปืนตกที่ทำเนียบขาว 

ในเดือนกันยายน 2556 ออร์เตกา-เอร์นานเดซ ให้การรับสารภาพในข้อหาทำลายทรัพย์สินและข้อหาใช้อาวุธปืน แต่พ้นข้อหาพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี ในเดือนมีนาคม 2014 เขาถูกตัดสินจำคุก 25 ปี.

โดนัลด์ ทรัมป์

ทรัมป์เคยถูกพยายามลอบสังหารมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นขณะที่เขากำลังหาเสียงอยู่ที่เขตบัตเลอร์ เคาน์ตี้ 
ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2024 ซึ่งในครั้งนั้นเขาได้รับบาดเจ็บที่ใบหูข้างขวา ทีมรักษาความปลอดภัยระบุว่าได้สังหารชายผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวแล้ว โดยมีประชาชนผู้เข้าร่วมฟังการปราศรัยเสียชีวิตด้วยอีก 1 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 คน

สำนักงานสืบสวนกลางหรือเอฟบีไอ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ระบุชื่อมือปืนผู้ก่อเหตุว่าคือ นายโธมัส แมทธิว ครุกส์ ชายวัย 20 ปี จากเมืองเบเธลพาร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ

ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2024 ที่สนามกอล์ฟทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล กอล์ฟ คลับ ในเมืองเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบ ได้พบเห็นมือปืนผู้ก่อเหตุ ที่ซุ่มอยู่ในพุ่มไม้ที่ขอบสนามกอล์ฟใกล้กับหลุมที่ 5,6 และ 7 โดยเจ้าหน้าที่เห็นลำกล้องปืนโผล่ออกมาจากพุ่มไม้ ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวได้ โดยพบว่าคือนายไรอัน เวสลีย์ รูธ.

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign