อาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ใช้เวลาทั้งสัปดาห์ในจังหวัด พรีมอร์สกีและจังหวัดคาบารอฟสค์ของเขตสหพันธ์ตะวันออกไกล พรุ่งนี้ 19 ตุลาคม 2024 ต้องรีบบินกลับไทย เพราะ 20 ตุลาคม 2024 มีกฐินสามัคคีที่วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี ใครที่จะร่วมงานกฐินเชิญไปที่วัด ถ้าไม่สะดวกก็โอนเงินเข้าไปทำบุญที่บัญชีวัด ธ.กรุงไทย สาขาจันทบุรี เลขที่ 204-0-83755-8 ชื่อบัญชี ‘วัดป่าคลองกุ้ง’ ขออนุโมทนาบุญครับ

ปูตินเป็นคนง่ายๆ อ่านหนังสือมาก เดินทางเยอะ เมื่อเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็น 1 ใน 2 ประเทศ (อีกประเทศหนึ่งคือจีน) ที่ต้องต่อสู้กับสหรัฐฯและตะวันตก ปูตินสู้ด้วยการปรับปรุงสำนักบริหารงานประธานาธิบดีเป็นอันดับแรก

อาจารย์นิติภูมิธณัฐเคยพักอยู่บ้านอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าประจำสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษาของมหาวิทยาลัยมอสโก สามีของอาจารย์ท่านนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสำนักงานบริหารประธานาธิบดี จึงได้ทราบว่า ในยุคของปูตินมีการปรับปรุง
สำนักงานนี้เพื่อให้สามารถต่อสู้กับอิทธิพลของโลกตะวันตก

สำนักบริหารงานประธานาธิบดีที่ปูตินสั่งให้ปรับปรุงมีทั้งหมด 21 หน่วยงาน ที่น่าสนใจก็เช่น สนง.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและติดต่อทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ สนง.ฝ่ายความร่วมมือข้ามพรมแดน สนง.โครงการเพื่อสังคม

สนง.ป้องกันการทุจริต สนง.พิมพ์สุนทรพจน์ประธานาธิบดี สนง.ด้านนโยบายในประเทศของประธานาธิบดี สนง.ด้านการรับจดหมายจากประชาชนและองค์กร สนง.ด้านพิธีการ สนง.ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักข่าวสารและข้อมูลประธานาธิบดี ฯลฯ

ตอนที่ปูตินขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ ยังมีข้าราชการที่เป็นพวกหัวเก่าคอยขัดขวางการทำงานของปูตินที่เรียกว่ากลุ่มเครมลินเก่า พวกนี้จะอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกลุ่มที่มีอำนาจมาก ทำให้งานการของปูตินสะดุดอยู่หลายครั้ง

...

ปูตินจึงแก้ไขด้วยการตั้งผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของประธานาธิบดีทั้งหมด 8 เขต และให้พวกนี้ไปอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อคานพวกอำนาจเก่า

สมัยก่อนนิสิตปริญญาเอกที่จะปกป้องวิทยานิพนธ์ในรัสเซีย จะต้องติดประกาศ รวมทั้งส่งประกาศไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เข้ามาฟัง ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ข้าราชการจากสภาความมั่นคงแห่งชาติจะเข้ามาฟัง รวมทั้งนำเล่ม วิทยานิพนธ์กลับไปไว้ที่ห้องสมุดของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

หน่วยงานสำคัญสูงสุดด้านความมั่นคงของรัสเซียคือสภาความมั่นคง แห่งชาติที่มีสมาชิกถาวร 12 คน สมาชิกสมทบ 18 คน มีคณะกรรมาธิการ 14 คณะ พวกนี้คือผู้กุมอำนาจของจริง ในรัสเซียสมาชิกถาวรมีทั้งผู้อำนวยการ FSB ประธานสภาผู้แทนราษฎร (สภาดูมา) หัวหน้าฝ่ายบริหารประธานาธิบดี รัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานสภาสหพันธรัฐ นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการข่าวกรองต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคง ฯลฯ

ส่วนสมาชิกสมทบก็จะเป็นผู้ว่าฯนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐมนตรีป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กิจการฉุกเฉิน และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ อัยการสูงสุด รัฐมนตรีคลัง นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก รัฐมนตรียุติธรรม ฯลฯ

คณะกรรมาธิการประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติก็จะมีพวกคณะกรรมาธิการคัดเลือกผู้สมัครสำหรับผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง คณะกรรมาธิการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ประสบภัยจากการกดขี่ทางการเมือง คณะกรรมาธิการคนพิการ คณะกรรมาธิการสาธารณะเสนอชื่อผู้สมัครรางวัลแห่งชาติสำหรับผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน และรางวัลแห่งชาติสำหรับผลงานดีเด่นด้านการกุศล ฯลฯ

การจะรับรางวัลระดับชาติในรัสเซียเป็นเรื่องใหญ่ สืบประวัติกันอย่างละเอียดจนมั่นใจว่าปราศจากความด่างพร้อย วิธีการบริหารบ้านเมืองของรัสเซียต่างจากประเทศชาติบ้านเมืองอื่น ไม่ลอกการบริหารงานของสหรัฐฯและตะวันตก นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัสเซียยืนได้อย่างทระนงองอาจท่ามกลางการโจมตีของสหรัฐฯและตะวันตก

หลายคนชอบโทษการบริหารงานสมัยเยลต์ซินว่าเละตุ้มเป๊ะ สมัยนั้นก็น่าจะเละล่ะครับ เพราะการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นไปอย่างฉับพลันทันที ไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานกว่า 25 ปีทำให้ปูตินทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถวางตัวผู้คนที่ดูแลหน่วยงานได้อย่างเหมาะสม

สหรัฐฯและตะวันตกไม่น่าเร่งให้เซเลนสกีทำสงครามแทนพวกตน ปูตินน่ะแก่แล้ว อีกไม่นานก็จะต้องตายกลายเป็นผี ถึงขณะนี้ ก็ยังหาผู้นำที่แข็งแกร่งเท่าปูตินไม่ได้

หลายคนเป็นห่วงว่าถ้าหมดยุคปูตินแล้ว

รัสเซียอาจจะกลับไปเละตุ้มเป๊ะเหมือนยุคเยลต์ซิน.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม