เซเลนสกีเผยแผนการคว้าชัยชนะ ที่พูดถึงมานาน ซึ่งเขาอ้างว่า หากทำสำเร็จ ยูเครนอาจยุติสงครามกับรัสเซียที่ดำเนินมานานกว่า 2 ปี ได้ในปีหน้า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เปิดเผยแผนการคว้าชัยชนะ (victory plan) ของเขาออกมาแล้วในวันที่ 16 ต.ค. 2567 หลังจากรอคอยกันมานาน ที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นแผนที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสถานะของยูเครนให้เข้มแข็งพอ เพื่อยุติสงครามกับรัสเซีย

เซเลนสกีบอกกับสมาชิกสภาในกรุงเคียฟว่า แผนการนี้อาจสามารถยุติสงครามที่ดำเนินมานานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้ในปีหน้า

องค์ประกอบสำคัญในแผนของเขาคือ การได้รับคำเชิญเข้าร่วมองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต อย่างเป็นทางการ, ให้ชาติพันธมิตรยกเลิกห้ามใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย, ปฏิเสธการแลกเปลี่ยนดินแดนและอธิปไตยของยูเครน และบุกโจมตีในแคว้นคูสค์ของรัสเซียต่อไป

ด้านโฆษกรัฐบาลเครมลินของรัสเซีย ไม่ใส่ใจแผนการดังกล่าว และว่า ยูเครนควรสร่างเมาได้แล้ว

ในการแถลงการณ์รัฐสภาของเซเลนสกี เขายังวิพากษ์วิจารณ์ จีน, อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ที่สนับสนุนรัสเซีย และระบุว่าประเทศเหล่านี้เป็นอาชญากรร่วม ผู้นำยูเครนกล่าวอีกว่า วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เป็นบ้าไปแล้ว และเรียกปูตินว่าเป็นพวกกระหายสงคราม

เซเลนสกีบอกอีกว่า เขาจะเสนอแผนการคว้ำชัยชนะของเขาต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักในแผนการคว้าชัยชนะของเซเลนสกีที่ได้รับการเปิดเผยออกมา ได้แก่

-การให้ชาติพันธมิตรเชิญยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการ

-การเสริมสร้างการป้องกันของยูเครนต่อการโจมตีของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการให้ชาติพันธมิตรยกเลิกห้ามใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย และดำเนินปฏิบัติการทางทหารในดินแดนของรัสเซียต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างเขตกันชนในยูเครน

...

-จำกัดรัสเซียด้วยการประจำการยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์โดยไม่ใช้นิวเคลียร์ ในดินแดนของยูเครน

-ให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ร่วมกันคุ้มครองทรัพยากรสำคัญของยูเครน และรวมกันใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของพวกเขา

-หลังสงครามจบลงแล้ว ให้แทนที่ทหารสหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง ที่ประจำการอยู่ทั่วยุโรปด้วยทหารยูเครน

อย่างไรก็ตาม แผนการคว้าชัยชนะนี้ ยังมีเป้าหมายอีก 3 อย่างที่ถูกเก็บเป็นความลับ ซึ่งเซเลนสกีระบุว่า จะบอกกับพันธมิตรของประเทศเท่านั้น ซึ่งมีรายงานว่า พันธมิตรหลักของยูเครนในยุโรปอย่าง สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, อิตาลี และเยอรมนี ได้เห็นแผนการนี้แล้ว

อนึ่ง เมื่อเดือนกันยายน เซเลนสกีเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อนำเสนอแผนการคว้าชัยชนะต่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน แต่รัฐบาลไบเดนแสดงความกังวลว่า แผนการนี้ขาดแผนยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม และแทบไม่ต่างจากการวมคำร้องขออาวุธเพิ่ม และยกเลิกข้อจำกัดการใช้อาวุธพิสัยไกล ที่ยูเครนเคยขอก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์ทั้งในยูเครนและยุโรปต่างมองตรงกันว่า สหรัฐฯ แสดงท่าทีต้องการหลีกเลี่ยงทำให้สถานการณ์กับรัสเซียบานปลายไปมากกว่านี้ ก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมาถึงในวันที่ 5 พ.ย.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc