การเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมสุดยอดผู้นำชาติใช้ภาษาฝรั่งเศส “ฟรังโคโฟนี ซัมมิต” ที่กรุงปารีส แน่นอนว่าใจความสำคัญย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการเชิดชูภาษาฝรั่งเศสที่แพร่หลายไปทั่วโลก
เพียงแต่การเข้าสนทนากับบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง (ซึ่งเกือบทั้งหมดขอมาว่าอย่าเปิดเผยนามนะ) ทำให้พบเช่นกันว่า การมาถึงของยุคออนไลน์ได้สร้างปัญหาแก่การรักษาภาษาฝรั่งเศสอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยคนเจเนอเรชันหลังเปิดเว็บไซต์หรือเข้าโปรแกรม แอปพลิเคชันอะไรก็จะเจอแต่ภาษาอังกฤษมาก่อนเป็นอันดับแรก
จริงอยู่ที่ระบบออนไลน์มีความ “โลคอลไลเซชัน” หมายถึงหากอยู่ในประเทศไทยและตั้งค่าประเทศไทยไว้ ก็จะพบเห็นเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยขึ้นมาก่อน ของฝรั่งเศสก็เช่นกัน อยู่ในฝรั่งเศสย่อมเห็นคอนเทนต์ภาษาฝรั่งเศสก่อน แต่คำถามที่ตามมาคือพออยู่นอกแผ่นดินเมื่อไร ภาษาอังกฤษจะโผล่มาทันที
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลุ่มข้าราชการที่ผู้เขียนได้ไปพบปะมาหลายคน เห็นได้ชัดว่า มีความเห็นไม่ตรงกันสักเท่าไรนัก บ้างก็เชื่อว่า ภาษาฝรั่งเศสยังมีรากฐานแข็งแรง รัฐบาลทุ่มงบตรงนี้ไปมาก โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียนนานาชาติ และจำนวนคนพูดภาษาฝรั่งเศสจะเพิ่มขึ้นอีกตามอัตราประชากรที่เติบโตในหลายประเทศ
ขณะที่อีกส่วนมีความตระหนักว่า คนจะเรียนภาษา มักดูเรื่องของโอกาส ว่าเรียน ไปแล้วเอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ดังนั้นเวทีการประชุมฟรังโคโฟนี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นพื้นที่การสร้างโอกาส แต่แน่นอนเรื่องที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกต่างใช้ภาษาอังกฤษ ยังไม่มีแนวทางที่จะ “รับมือ” ได้อย่างชัดเจน
ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้ ยังไม่รวมถึงประเด็นความยากของภาษา ซึ่งเคยอ่านบทความของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลอแรน ตั้งคำถามว่าควรมีการปฏิรูปให้เปิดกว้างมากขึ้นหรือไม่ อย่างการนับเลขดั้งเดิม เช่น 99 จะพูด (แปลไทย) ว่า สี่คูณยี่สิบ (บวก) สิบ (บวก) เก้า ซึ่งในบางชาติที่พูดฝรั่งเศสได้มีการปรับให้ง่ายขึ้นแล้ว แต่แน่นอนว่าฝรั่งเศส “ดั้งเดิม” ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกใจกับสิ่งนี้เท่าไรนัก.
...
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม