กูเกิลได้ลงนามข้อตกลงในการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก เพื่อผลิตพลังงานจำนวนมหาศาลที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

กูเกิลได้ลงนามข้อตกลงในการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก เพื่อผลิตพลังงานจำนวนมหาศาลที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กูเกิลระบุว่า ข้อตกลงกับบริษัทไครอส พาวเวอร์ จะทำให้บริษัทเริ่มใช้เครื่องปฏิกรณ์เครื่องแรกในทศวรรษนี้ และจะเปิดใช้งานเครื่องปฏิกรณ์เครื่องใหม่ภายในปี 2035 อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับมูลค่าของข้อตกลง หรือสถานที่ที่จะสร้างโรงงาน

บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งหันมาใช้แหล่งพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้นเพื่อจัดหาไฟฟ้าที่ใช้ในศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ นายไมเคิล เทอร์เรล ผู้อำนวยการอาวุโสด้านพลังงานและสภาพอากาศของกูเกิลกล่าวว่า "โครงข่ายไฟฟ้าต้องการแหล่งพลังงานใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยีเอไอ ข้อตกลงนี้ช่วยเร่งให้เกิดเทคโนโลยีใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานอย่างสะอาดและเชื่อถือได้ และปลดล็อกศักยภาพทั้งหมดของเอไอสำหรับทุกคน"

ด้านนายเจฟฟ์ โอลเซน ผู้บริหารของไครอส กล่าวว่า ข้อตกลงกับกูเกิล "มีความสำคัญต่อการเร่งการนำพลังงานนิวเคลียร์ขั้นสูงไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิคและทางการตลาดของโซลูชันที่สำคัญต่อการลดการปล่อยคาร์บอนในระบบไฟฟ้า"

แผนดังกล่าวยังต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อได้

เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ได้ให้ใบอนุญาตครั้งแรกในรอบ 50 ปีแก่ไครอส พาวเวอร์ เพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบใหม่ ในเดือนกรกฎาคม บริษัทได้เริ่มก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์สาธิตในรัฐเทนเนสซี โดยบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้เกลือฟลูออไรด์หลอมเหลวเป็นสารหล่อเย็นแทนน้ำ ซึ่งใช้โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม

...

พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งแทบจะไม่มีคาร์บอนและผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากช่วยลดการปล่อยมลพิษ แม้ว่าจะใช้พลังงานมากขึ้นก็ตาม ด้านโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ คาดว่าการใช้พลังงานทั่วโลกของศูนย์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในสิ้นทศวรรษนี้

จอห์น มัวร์ บรรณาธิการฝ่ายอุตสาหกรรมของเว็บไซต์ TechTarget กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลเอไอต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากทั้งในการจ่ายไฟและรักษาอุณหภูมิของอุปกรณ์ เนื่องจากมีการติดตั้งฮาร์ดแวร์เฉพาะทา ซึ่งต้องใช้พลังงานจำนวนมากและสร้างความร้อนจำนวนมาก

ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ เข้าร่วมกับกลุ่มประเทศที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในปี 2050 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์กล่าวว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ปลอดภัยและก่อให้เกิดขยะกัมมันตภาพรังสีที่คงอยู่ยาวนาน

เมื่อเดือนที่แล้ว ไมโครซอฟท์บรรลุข้อตกลงในการกลับมาเริ่มดำเนินการสถานีผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์เกาะทรีไมล์ ซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของอเมริกาในปี 1979 ส่วนในเดือนมีนาคม แอมะซอนกล่าวว่าจะซื้อศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในรัฐเพนซิลเวเนีย.

ที่มา BBC

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign